HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)…ทำไมถึงเป็น รักษาอย่างไรดี

June 23, 2016

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)…ทำไมถึงเป็น รักษาอย่างไรดี

โรคนี้พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยทั่วไปจะพบในช่วงอายุ 20–50 ปี แต่พบบ่อยในสตรีมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงเปิด และสั้นกว่าผู้ชายมาก และยังอยู่ใกล้ทวารหนัก แหล่งที่มีเชื้อแบคมีเรียจำนวนมาก จนมีโอกาสสูงที่เชื้อโรคจะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจนเกิดการอักเสบ

The Journal of the American Medical Association

อาการของโรคเป็นอย่างไร

ปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อยๆ ปวดแสบมากเมื่อจะสุดการปัสสาวะ บางรายอาจมีเลือด หรือหนองปนในปัสสาวะด้วย รวมถึงสีปัสสาวะจะขุ่น/สีคล้ำผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ผู้ป่วยอาจมีไข้สูง หรือไข้ต่ำ เจ็บบริเวณเอว ปวดท้องน้อย หรือคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

อาการมีทั้งแบบเกิดจากการอักเสบเฉียบพลัน เกิดทันที และสามารถรักษาหายได้ภายใน 2 -3 สัปดาห์ หรือเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง อักเสบเป็น ๆ หาย ๆ แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่าการอักเสบเฉียบพลัน


สาเหตุของการเป็นโรค

เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนัก และช่องคลอด โดยเชื้อโรคจะเข้าผ่านทางปากท่อปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ (เชื้อแบคทีเรียมีหลายชนิด แต่โดยประมาณ 75–95% มาจากเชื้อโรคอีโคไล (E.coli))

การวินิจฉัยโรค

เมื่อไปพบแพทยจะได้รับการสอบถามประวัติอาการ การตรวจร่างกาย อาจมีการวินิจฉัยตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อโรค และตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) หรือการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ หรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มาก อย่างน้อยวันละ 8–10 แก้ว เพื่อขับเชื้อออกทางปัสสาวะ ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นนภายใน 5–7 วัน หลังรับยาแล้ว

**ถ้าได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ติดเชื้อในกระเพาะปัสสวะแบบเรื้อรังได้ รวมถึงการดื้อยาด้วย

การดูแลตนเองขณะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

1. ควรพบแพทย์เสมอ เพราะโรคนี้ไม่สามารถหายได้โดยการดูแลตนเองเพียงอย่างเดียว และไม่ควรซื้อยาทานเอง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียมีหลายชนิด อาจมีการทานยาไม่ตรงกับชนิดของเชื้อโรค จนทำให้โรคไม่หาย และยังเกิดอาการดื้อยาขึ้นได้

2. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8–10 แก้วต่อวัน กรณีไม่ได้เป็นโรคที่ต้องจำกัดน้ำ

3. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ

4. ผู้หญิงควรทำความสะอาดอวัยวะเพศ เช็ด/ล้าง จากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนัก

5. ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ หากมีอาการผิดปกติ หรือพบอาการเป็นหนักกว่าเดิม เช่น ปัสสาวะปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การรักษาให้หายขาดจะไม่มีผลร้ายแรง ส่วนรายที่ไม่หายขาดนั้น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจมีผลทำให้การอักเสบลุกลามไปถึงส่วนอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้ ดังนั้นควรรับประทานยาให้ครบ แล้วจึงควรตรวจปัสสาวะซ้ำอีกสักครั้งนะคะ ^-^