HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

June 23, 2016

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

อาการของโรค

ในบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่ตรวจพบจากการตรวจภายใน หรือการผ่าตัดภายในช่องท้อง แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการจะเป็นดังนี้

  • ปวดท้องตื้อๆ ทรมาน และปวดเป็นเวลานาน เมื่อมีประจำเดือน
  • ปวดท้องน้อย บริเวณหลัง หรือขา ก่อนหรือหลังมีประจำเดือน
  • รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเซ็กส์
  • คลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อยซึ่งเกิดจากถุงน้ำที่รังไข่เติบโตขึ้น
  • หากถุงน้ำช็อกโกแลตเกิดการแตก จะมีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง

****หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นรุนแรงขึ้น และอาจทำให้มีบุตรยากได้

สาเหตุการเกิดโรค

โรคนี้เกิดจากการไหลย้อนทางของเลือดประจำเดือนผ่านท่อนำไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น รังไข่ บริเวณอุ้งเชิงกราน หรือบริเวณนอกมดลูก อย่างปอด หรือสมองก็อาจพบได้ จนเกิดเป็นเซลล์เยื่อบุที่ลักษณะคล้ายถุงน้ำบรรจุเลือดภายใน และไม่สามารถขับออกมาได้ ซึ่งหากปล่อยไว้นานเนื้อเยื่อนี้จะกลายเป็น “ช็อกโกแลตซีสต์”

และตามที่ก้อนนี้ไม่สามารถขับออกมาได้จากการที่เจริญนอกมดลูก ดังนั้นมันจึงโตขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจไปดัน หรือกดอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น ผนังช่องท้อง หรือผนังลำไส้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ สำหรับผู้ป่วยบางรายเนื้อเยื่อนี้จะสามารถฝ่อไปได้หากมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเพศเกิดขึ้น

แนวทางการรักษา

1. การใช้ยารักษา ได้แก่

  • ยาแก้ปวดต้านการอักเสบ และช่วยลดอาการปวดประจำเดือน หรือปวดท้องน้อย
  • ยาฮอร์โมน ทั้งแบบยากิน ยาฉีด หรือห่วงฮอร์โมนสำหรับใส่ในโพรงมดลูก ยาเหล่านี้จะช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดการฝ่อ (การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้)

2. การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

  • การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องโดยใช้กล้อง โดยจะทำการตัดรอยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออกให้หมด การผ่าตัดผ่านกล้องมีข้อดี คือ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็ว รวมถึงโอกาสเกิดพังผืดหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
  • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง วิธีนี้ควรใช้เฉพาะกรณีที่โรครุนแรง ไม่อาจผ่าตัดด้วยวิธีการใช้กล้องได้ และผู้ป่วยไม่ต้องการที่จะมีบุตรแล้ว
  • การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หลังจากผ่าตัดแล้ว แพทย์อาจให้ทานฮอร์โมนร่วมด้วย

โรคนี้หลังจากการผ่าตัด รอยจากการผ่าตัดและอาการปวดจะดีขึ้น อาจเกิดเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะในรายที่เป็นมาก ควรได้รับการติดตามสม่ำเสมอ เมื่อถึงวัยทองโรคนี้จะหายเพราะไม่มีฮอร์โมนจากรังไข่ ซึ้งก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ตุ่มต่าง ๆ ที่ฝังตัวฝ่อลงไป ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นระยะ ๆ และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ ๆ นะคะ ^-^