แบบนี้ใช่ไหมที่เรียกว่า “ท้องผูก” ?!!!!
ท้องผูกปัญหาที่หลายๆ คนต้องทุกข์ทรมาน และรบกวนชีวิตประจำวัน ดังนั้นเรามีข้อมูลดี ๆ ในการรักษา และแนวทางในการดูแลตนเอง รวมถึงอาหารที่เหมาะกับอาการท้องผูกมาฝาก ตามไปอ่านกันเลยค่ะ…
อาการท้องผูก (Constipation) คือ อาการผิดปกติในการขับถ่าย ถ่ายน้อยผิดปกติ ประมาณน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ ถ่ายอุจจาระลำบาก เจ็บปวดจากการต้องเบ่งแรงๆ อาจรู้สึกถ่ายไม่หมด อุจจาระมีลักษณะแห้ง แข็ง เป็นก้อนเล็กก้อนน้อยคล้ายขี้แพะ
ท้องผูกเกิดจากอะไร?
1. พฤติกรรมไม่เหมาะสมบางอย่าง
เช่น การอั้นอุจจาระเป็นประจำส่งผลให้ระบบขับถ่ายผิดปกติ, ทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ทานผักผลไม้น้อย เลือกทานแต่เนื้อสัตว์ ไขมัน และแป้งมากเกินไป, ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ) นั่งๆ นอนๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำงานของลำไส้เคลื่อนตัวช้า หรือบีบตัวลดลงกว่าปกติ
หรือบางรายเสพติดยาจากการใช้ยาระบายประเภทที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่เป็นประจำ ทำให้ระบบการบีบตัวของลำไส้ทำงานผิดปกติ
2. การใช้ยาบางชนิด
ใช้ยาที่มีผลข้างเคียงโดยไปลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน, ยาลดกรดมีส่วนผสมของอลูมิเนียม และแคลเซียม, ยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด (กลุ่มที่ไปยับยั้งแคลเซียม) และยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น
3. มีโรคประจำตัว
โรคเรื้อรังบางอย่างที่ส่งผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคเนื้องอก/มะเร็งลำไส้ใหญ่, เบาหวาน, โรคหลอดเลือดสมอง, ต่อมไธรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ, ไตวาย, ภาวะในแคลเซียมในเลือดสูง และโรคทางระบบประสาทต่าง ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน เป็นต้น
4. ปัญหาจากสภาวะทางจิตใจ และปัจจัยอื่น ๆ
การมีความเครียด/ความกังวลสูง, การตั้งครรภ์, การนั่งรถนาน หรือการไม่มีเวลาพอในการขับถ่าย อาจเป็นเหตุทำให้การทำงานของลำไส้ลดการบีบตัวลงได้
แนวทางรักษาอาการท้องผูกทำได้อย่างไรบ้าง?
การเปลี่ยนพฤติกรรม
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ถ่ายอุจจาระทุกครั้งที่ปวด ไม่ควรอั้นไว้, ไม่ควรใช้ยาระบายต่อเนื่องโดยไม่จำเป็น เป็นต้น (แนะนำให้อ่านการดูแลตนเองด้านท้ายบทความ)
- ทานอาหารที่มีเส้นใยเพียงพอ ประเภท ผัก และผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งอาหารบางอย่างยังสามารถเป็นยาระบายได้ด้วย เช่น ลูกพรุน ผลมะเดื่อฝรั่ง ผลกีวี ชะเอมเทศ กากน้ำตาล เป็นต้น
- ฝึกขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร เป็นเวลาสม่ำเสมอ และไม่เร่งรีบ
- เปลี่ยนท่านั่งขับถ่าย ควรนั่งยอง หรือนั่งท่างอเข่า เพื่อให้ไส้ตรงทำมุมดีขึ้นต่อการขับถ่าย และช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ล้าด้วย
การรักษาด้วยการใช้ยา
*** ควรใช้ยาระบายกลุ่มไหน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน เนื่องจากบางคนอาจมีโรคประจำตัวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคดังกล่าวได้
- ยาระบาย มีรูปแบบส่วนใหญ่เป็นยาสำหรับทาน ซึ่งการใช้ไม่ควรใช้บ่อย ๆ หรือในระยะยาว เพราะอาจทำให้เกิดอาการดื้อยา สำหรับคนส่วนใหญ่ ชนิดของยาระบายมีหลายประเภท ตามกลไกการออกฤทธิ์ ได้แก่ ยาระบายกลุ่มกระตุ้น, ยาระบายกลุ่มออสโมซิส และยาระบายกลุ่มเกลือ เป็นต้น
- ยาเหน็บทวาร และการสวนอุจจาระ มีข้อดี คือ เห็นผลเร็วกว่าการทานยา โดยหลักการทำงานจะใช้ยาเหน็บ/ยาสวนทวารสอดผ่านรูทวารเข้าไปในลำไส้ตรง และยาจะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม และทำให้ผนังของลำไส้ตรงหดตัวเพื่อขับอุจจาระออกมา
- ยากระตุ้นคลอไรด์ channel เช่น ยา Lubiprostone ใช้รักษาอาการท้องผูกรุนแรงเรื้อรังแบบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งยาจะช่วยให้ลำไส้มีน้ำเพิ่มขึ้น เคลื่อนไหวมากขึ้น ส่งผลให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ดี
สรุปแล้วอาการท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจาก ตัวเราปฏิบัติตนเองชักนำให้เกิดท้องผูก ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด โรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ และความเครียดที่อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่ายได้
อย่างไรก็ดี การรักษาอาการท้องผูกสามารถทำได้ค่ะ แต่ควรจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และระยะเวลาการเป็น ซึ่งควรทำการปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร และอย่าลืมว่าการรักษาใช้ยาต้องควบคู่กับการเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่เพื่อพิชิตท้องผูกด้วยนะคะ