ตรวจเช็คมะเร็งเต้านมด้วยตนเองกันเถอะ
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง เป็นวิธีการป้องกันมะเร็งเต้านมอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถทำได้บ่อย ๆ เพื่อคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมตนเองอยู่เสมอ ๆ หากตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งปกติใด จะได้นำไปสู่การตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เนื้อร้ายเติบโตลุกลามจนยากแก่การรักษา
ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ต้องรู้จักการตรวจเต้านมของตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยทำหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้ว 3–7 วัน ไม่แนะนำให้คลำตรวจในช่วงเวลามีประจำเดือน เพราะเต้านมมีอาการคัดตึงอยู่แล้วอาจทำให้เข้าใจผิดผลาดกันได้
ส่วนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว ควรกำหนดวันให้แน่นอนในทุก ๆ เดือน เพื่อง่ายต่อการจดจำและบันทึกความเปลี่ยนแปลงหากพบก้อนเนื้อ ว่ามีรูปร่าง ลักษณะและขนาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในแต่ละเดือน
วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
- ให้ยืดนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง แบติดกัน แล้วใช้กึ่งกลางด้านบนจนปลายนิ้วกดสำรวจไปรอบ ๆ เต้านมในฝั่งตรงข้าม ใช้มือซ้ายตรวจเต้านมข้างขวา ใช้มือขวาตรวจเต้านมข้างซ้าย
- คุณผู้หญิงที่มีเต้านมใหญ่ ให้เอามือข้างเดียวกับเต้านมที่กำลังจะตรวจช่วยยกประคอง เพื่อให้กดสำรวจได้ง่ายขึ้น
- คุณผู้หญิงที่มีเต้านมขนดเล็ก ให้เอามือข้างเดียวกับเต้านมที่กำลังจะตรวจวางไว้บนหัว เพื่อให้ยืดเต้านมขึ้นง่ายต่อการกดสำรวจ
- เริ่มกดสำรวจจากขอบรักแร้ไล่มาที่เต้านมด้านบนแล้วจึงวนลงล่างไปครบรอบที่ด้านข้างของเต้านมที่ชิดรักแร้โดยเน้นกดสำรวจบริเวณด้านข้างฝั่งชิดรักแร้ให้มากที่สุดเพราะเป็นส่วนที่มีต่อมน้ำนมและชั้นไขมันบุเต้านมหนาที่สุด
- กดสำรวจให้ทั่วข้างละ 2 รอบ แล้วจึงเปลี่ยนมือไปตรวจเต้านมอีกข้าง
- ห้ามให้มือนิ้วบีบเนื้อเต้านม เพราะจะรู้สึกว่าเหมือนบีบเจอก้อนเนื้อตลอดเวลา
นอกจากการตรวจเต้านมก่อนหรือหลังอาบน้ำแล้ว ควรจะลองกดสำรวจเต้านมต่อหน้ากระจกเงา และในท่านอนราบอีกด้วย เพื่อจะได้เห็นความผิดปกติที่อาจแสดงผ่านผิวหนังเต้านม
- ยืนตัวตรงหน้ากระจก หลังตรง ปล่อยแขนตามสบายก่อน แล้วจึงชูแขนทั้งสองขึ้นเหนือหัว แล้วสังเกตรอบ ๆ เต้านมทั้งสองข้าง ว่ามีการเคลื่อนตัวผิดปกติหรือไม่มีรอยบุ๋ม มีรอยนูน มีรอยย่น หรือหัวนมเปลี่ยนรูปร่างไปเมื่อยกแขนขึ้นลงหรือไม่
- ยืนตัวตรงหน้ากระจก เอามือทั้งสองข้างวางที่เอว สูดหายใจเข้า ยืดหัวไหล่และหน้าอกขึ้น สังเกตดูการยืดและผ่อนของกล้ามเนื้อหน้าอก ว่ามีการดึงรั้งเต้านมให้เปลี่ยนรูปทรง มีรอยบุ๋ม มีรอยนูน มีรอยย่นหรือไม่
- ในท่านอนหงาย ปล่อยร่างกายสบาย ๆ ไม่เกร็งเอาหมอนเตี้ย ๆ รองใต้หัวไหล่ข้างเดียวกับเต้านมที่กำลังจะตรวจ และยกมือข้างนั้นขึ้นวางเหนือศีรษะ เพื่อให้เต้านมแผ่ราบลง กดสำรวจได้ง่ายและทั่วถึง