HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

แนวทางการรักษา และการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ !!!!

July 6, 2016

แนวทางการรักษา และการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ !!!!

จากบทความที่แล้ว เราได้กล่าวถึง อาการ และสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจกันไปแล้ว ซึ่งสรุปได้ว่า ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บหน้าอก อึดอัด หายใจไม่ออก สมรรถภาพลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่แข็งแรงเหมือนก่อน และเหนื่อยง่าย หรือในกรณีเลวร้ายที่สุด อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ทำให้หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายถึงแก่ชีวิตได้

ซึ่งสาเหตุโรคนี้เกิดจากความเสื่อมตามอายุ และไขมันในเลือดสูง ทั้งจากการบริโภคอาการที่มีไขมันสูงก็ดี หรือไม่ออกกำลังกายก็ดี ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมจนอุดตัน ขีดขวางการไหลเวียนของเลือด เลือดจึงไหลผ่านได้ไม่สะดวก

ส่วนวิธีการรักษา และการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น ตามไปอ่านกันเลยค่ะ….

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

1. รักษาในระยะเบื้องต้น

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง การอุดตันไม่มาก หลัก ๆ จะเป็นการรักษาโดยการใช้ยา ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนวิถีชีวิต การรักษาเบื้องต้นนี้แพทย์จะจ่ายยาตามอาการของโรค ยาที่ใช้จะมีหลายกลุ่มออกฤทธิ์ต่างกันไป เพื่อบรรเทาและควบคุมอาการของโรค

  • ยาป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้ไม่สามารถเกาะเข้ากับผนังหลอดเลือดหัวใจได้
  • ยาลดระดับไขมันในกระแสเลือด เพื่อลดไขมันที่จะเข้าไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด
  • ยาขยายหลอดเลือด เพื่อช่วยให้หัวใจได้รับเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น
  • ยาลดการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ช่วยให้หัวเต้นช้าลง ช่วยให้หัวใจทำงานน้อยลง
  • ยาลดอาการเจ็บหน้าอก
  • ยาละลายลิ่มเลือด ใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อเส้นเลือดหัวใจถูกอุดตันอย่างเฉียบพลัน
  • และยารักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ

2. รักษาในระยะอันตราย

โดยจะเข้าไปแก้ไขจุดที่หลอดเลือดหัวใจอุดตัน แพทย์สามารถแก้ไขหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ 2 วิธี ส่วนแพทย์จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย

  • การทำบอลลูน การทิ้งวงขดลวดค้ำยันหลอดเลือดเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดบริเวณนั้นกลับมาตีบ เป็นวิธีที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะไม่ต้องเปิดช่องอก มีอันตรายน้อยกว่ามาก
  • ผ่าตัดหัวใจทำ Bypass คือการตัดต่อหลอดเลือดหัวใจเพื่อทำงานเลี่ยงจุดที่อุดตัน มีการผ่าตัดช่วงอก จึงมีความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • ควบคุมน้ำหนัก อย่าปล่อยให้ตนเองอ้วนลงพุง
  • เลือกกินแต่ไขมันดีจากน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก ยกเว้น น้ำมันมะพร้าวและ น้ำมันปาล์ม ส่วนไขมันจากสัตว์กินได้เฉพาะไขมันจากปลาทะเล
  • ลดการกินเนื้อติดมัน และหนังสัตว์
  • ลดแป้ง น้ำตาล และเกลือ
  • กินแต่อาหารบำรุงสุขภาพ เช่นผักต่าง ๆ ข้าวกล้อง ธัญพืช
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ลดความเครียดจากที่ทำงาน
  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพโดยละเอียดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง