มะเร็งตับน่ารู้ ตอน3 แนวทางรักษา และการป้องกัน “มะเร็งตับ”
จากบทความก่อนหน้านี้ ได้พาไปรู้จักการทำงานของตับ สัญญาณบ่งบอกมะเร็งตับ ชนิด สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับกันไปแล้ว คราวนี้มาทราบกันดีกว่าค่ะว่า การรักษามะเร็งตับนั้น ทำได้อย่างไรบ้าง…
แนวทางการรักษามะเร็งตับ สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อร้ายออกจากตับ จะได้ผลดีในกรณีที่ตับของผู้ป่วยยังทำงานได้อยู่ มะเร็งยังไม่แพร่กระจ่ายไปอวัยวะข้างเคียง แล้วก้อนมะเร็งมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3 ซม.
- การทำเคมีบำบัดทางหลอดเลือด โดยการใช้สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ หรือรักแร้เข้าไปจนถึงตับ ตรงไปหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง จึงฉีดยาเคมีบำบัด (คีโม) เข้าที่ก้อนมะเร็งโดยตรง ใช้สำหรับผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่หรือมีหลายจุดบนตับ หรือทำเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งแล้วจึงผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกไป
- การฆ่าเซลล์มะเร็งเฉพาะจุด โดยใช้คลื่นเสียงหรือคลื่นความถี่วิทยุ โดยใช้เข็มที่ปลายมีลักษณะพิเศษ สามารถก่อให้เกิดความร้อนจากคลื่นเสียงหรือคลื่นวิทยุได้แทงเข็มทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปที่ตับ แล้วปล่อยคลื่นเสียงจนเกิดความร้อนเพื่อฆ่าก้อนมะเร็งโดยตรง
- การใช้เคมีบำบัด หรือคีโม สำหรับระยะมะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆโดยการให้สารเคมีผ่านทางหลอดเลือดหรือผ่านการกิน เพื่อให้ยาเคมีออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อมะเร็งทั่วร่างกาย ผู้ป่วยต้องมีร่างกายแข็งแรงและกำลังใจดี เพราะผู้ป่วยไม่น้อยที่เสียชีวิตลงก่อนที่จะรับเคมีครบขั้นตอน
- การฉายรังสี ใช้รังสีที่ได้จากสารกัมมันตภาพรังสีฉายลงไปเฉพาะจุดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่เป็นการรักษาเพื่อควบคุมอาการเท้านั้น เมื่อมะเร็งมีขนาดเล็กลงจึงต้องเข้าผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกมาในที่สุด
- การใช้ยายับยั้งโปรตีนเซลล์มะเร็ง หรือการรักษาแบบกำหนดจุดเป้าหมายโดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งดึงโปรตีนไปหล่อเลี้ยงตนเองได้ รวมทั้งยับยั้งหลอดเลือดที่เลี่ยงเซลล์มะเร็งไม่ให้แตกแขนงเพิ่มด้วย เป็นการรักษาแบบควบคุมอาการเท่านั้น
- การผ่าตัดเปลี่ยนตับ กรณีผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย ตับไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะผ่าออก เป็นการรักษาสุดท้าย แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการหาตับมาเปลี่ยนถ่าย นอกจากรอตับจากการบริจาคแล้ว บุคคลในครอบครัวใกล้ชิดที่มีเลือดกลุ่มเดียวสามารถบริจาคได้เช่นกัน
การป้องกันมะเร็งตับ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ
- กินอาหารที่ปรุงสุกเสมอ ๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงรส แปรรูป เช่น ของหมักดอง แหนม รมควัน สารให้สี สารกันเสีย สารปรุงรส
- หลีกเลี่ยงอาหารแห้ง เช่น ถั่วบด พริกแห้ง กระเทียม เต้าหู้ยี้ ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส สูดดมสารเคมี และสารโลหะหนัก
- ตรวจสุขภาพโดยละเอียดปีละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย