สัญญาณเตือน “โรคหลอดเลือดหัวใจ” !!!!
รู้ไหมว่า…จากข้อมูลกรมควบคุมโรค ในปี 2557 สำหรับประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดทั้งหมด 54,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คนคิดเป็นอัตราตายของโรคหัวใจและหลอดเลือด เท่ากับ 90.34 ต่อแสนประชากร ซึ่งโรคหัวใจเหล่านี้ เราไม่สามารถชะล่าใจได้เลย ควรไปทำความรู้จักกันดีกว่าว่าเรามีสัญญาณของโรคนี้หรือไม่ และสาเหตุเกิดจากอะไร จะได้ตรวจสอบตนเอง และหาทางรักษาที่ถูกต้องกันต่อไปค่ะ
สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดหัวใจ Coronary artery disease (CAD)
อาการของโรคจะค่อยเป็นค่อยไปโดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัว ความรุนแรงจะยกระดับไปตามความหนาของไขมันที่เกาะบนผนังหลอดเลือดหัวใจ อาการเริ่มต้นคือ สมรรถภาพร่างกายลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน เหนื่อยง่าย ความอดทนของร่างกายลดลง
แต่หากหลอดเลือดตีบตันมากขึ้น ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอในช่วงที่หัวใจทำงานหนักหรือขณะที่มีอารมณ์รุนแรง หรือเวลาเครียดมาก ๆ จะทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก อึดอัดหายใจไม่ออกเหมือนถูกบีบตรงกลางทรวงอก แล้วความเจ็บแผ่ไปทั่งช่วงอก ลามต่อไปตามแขน ต้นคอ ขากรรไกร อาการจะดีขึ้นในชั่วระยะเวลา 5–10 นาที
แต่หากควบคุมอาการของโรคนี้ไม่อยู่ จะพัฒนาไปสู่ระยะอันตราย เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจะเริ่มตายลงช้า ๆ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่ทั่วถึง อาการเจ็บหน้าอกจะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะนั่งหรือนอนเฉย ๆ อาการเจ็บหน้าอกจะยาวนานกว่า 15 นาที ต้องอมยา หรือพ่นยาเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจจึงจะบรรเทาอาการได้
ส่วนหลอดเลือดที่มีไขมันเกาะหนา ยิ่งแข็งกระด้างขึ้นเรื่อย ๆ จนสูญเสียความยืดหยุ่นไป เปราะ แตกหักเป็นแผลได้ง่าย เมื่อเกิดบาดแผลบนหลอดเลือด เกล็ดเลือดจึงเข้ามาทำหน้าที่อุดรอยแผลที่เกิดขึ้นกลายเป็นลิ่มเลือด ทำให้หลอดเลือดอุดตันยิ่งขึ้น ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ทำให้หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ
ความเสื่อมตามอายุของร่างกาย และไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่อไขมัน (ในกลุ่มคลอเรสเตอรอลชนิดเลว หรือ LDL: Low Density Lipoprotein ได้มาจากการทาน ไขมันสัตว์ เนย นม ชีส กะทิ มาร์การีน อาหารทอด ฟาสต์ฟูด ฯลฯ) สะสมตัวหนาขึ้นจนกลายเป็นคราบตะกรันขีดขวางการไหลของเลือด ทำให้หลอดเลือดมีขนาดเล็กลง เลือดไหลผ่านได้ไม่สะดวก หลอดเลือดแข็งกระด้าง ไม่ยืดหยุ่น ไม่สามารถขยายตัวได้ดีเหมือนเดิม หลอดเลือดจึงแตกเปราะได้ง่ายขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่เร่งให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคเบาหวาน
- มีระดับไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่อ้วนลงพุง และมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ที่มีนิสัยกินอาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด
- ขาดการออกกำลังกาย
- มีความเครียดตลอดเวลา
- พันธุกรรม