มารู้จักกับระบบย่อยอาหารของเรากันเถอะ…ตอนที่ 3 ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน
ตับ (Liver)
ตับเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นชิ้นจับต้องได้ที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย หนักประมาณเกือบ 2 กิโลกรัม เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่หาที่เปรียบไม่ได้ ตับสามารถปรับโครงสร้างทางเคมีของสารเกือบทุกชนิด เป็นอวัยวะขับสารพิษที่ทรงพลังสามารถย่อยสลายโมเลกุลของสารพิษหลากหลายประเภท และเปลี่ยนให้สารเหล่านั้นไม่มีอันตราย
ตับยังเป็นคลังเก็บเลือด และเป็นอวัยวะที่เก็บสะสมวิตามิน เช่น เอและดี รวมไปถึงแป้งที่ย่อยสลายแล้ว (ไกลโคเจน) ซึ่งจะถูกปล่อยออกมาเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ตับเป็นแหล่งผลิตเอนไซม์ คอเลสเตอรอล โปรตีน วิตามินเอจากแคโรทีน และสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว
หน้าที่หลักอีกอย่างคือการสร้างน้ำดี น้ำดีประกอบด้วยเกลือที่ช่วยในการย่อยไขมัน โดยผ่านกระบวนการอีมัลซิฟิเคชัน (การทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน)
ถุงน้ำดี (Gallbladder)
มีความยาวประมาณ 3 นิ้ว เป็นที่เก็บสะสมน้ำดี และดัดแปลงทางเคมี ทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้นสิบเท่า รสชาติ หรือบางครั้งแค่ภาพถ่ายของอาหารก็สามารถกระตุ้นให้ถุงน้ำดีหลั่งน้ำดีออกมาได้ ส่วนประกอบของของเหลวในถุงน้ำดีอาจจะมีการตกผลึก เกิดเป็นนิ่วถุงน้ำดี
ตับอ่อน (pancreas)
มีความยาวประมาณ 6 นิ้ว ซุกตัวอยู่ในส่วนโค้งของลำไส้เล็กส่วนต้น กลุ่มเซลล์ส่วนหนึ่งของตับอ่อนหลั่งอินซูลิน ซึ่งช่วยเร่งการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย อินซูลินถูกหลั่งออกมาในเลือด ไม่ใช่ในทางเดินอาหาร อีกส่วนหนึ่งของตับอ่อนที่มีขนาดใหญ่กว่าทำหน้าที่ผลิต และหลั่งน้ำย่อยจากตับอ่อน ซึ่งจัดเป็นน้ำย่อยที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เช่น ไลเปส Lipase ทำหน้าย่อยไขมัน โปรตีเอส Protease ทำหน้าย่อยโปรตีน และแอมีเลส Amylase ทำหน้าที่ย่อยแป้ง