ข้อคิดจากงานเสวนา Health Startup 2017
วันนี้ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเวทีเสวนาของกลุ่ม Health Startup Network ในงาน Startup Thailand 2017 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ครับ
โดยในงานเสวนาที่จัดขึ้นตลอดทั้งวันนี้มีสตาร์ทอัพระดับแนวหน้ามาร่วมแชร์พูดคุยแชร์แนวคิดในหัวข้อที่น่าสนใจมากมายที่ผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีสายสุขภาพไม่ควรพลาด อาทิเช่น
- EMR/EHR ระบบข้อมูลคนไข้ในโรงพยาบาล
- อนาคตของระบบ Telemedicine (การแพทย์ทางไกล)
- Digital Transformation for Hospital
- และเวทีที่ผมได้รับเกียรติจากทางผู้จัดงานให้ขึ้นไปร่วมวงเสวนาคือเรื่องของ “PharmaTech” หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานั่นเอง
ผมขอสรุปข้อคิดที่ได้จากการเข้าร่วมรับฟังตลอดทั้งบ่ายเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
Regulations และกฏหมายยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับ Health Tech
จากที่ได้ฟังวันนี้ทำให้เห็นว่าสตาร์ทอัพสาย Healthcare ทุกรายจะมีบางมุมบางมิติที่สัมผัส touch ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อบังคับทางกฏหมายด้านสาธารณสุข
ผมคิดว่ากฏหมายใน Healthcare เป็นเหมือนเหรียญที่เราต้องพิจารณาทั้งสองด้าน
จริงอยู่ว่ากฏและข้อบังคับด้านสาธารณสุขบางฉบับนั้นถูกร่างบังคับใช้มาหลายสิบปี ซึ่งตามไม่ทันเทคโนโลยีและกรรมวิธีด้านการบำบัดรักษาดูแลสุขภาพที่เปลี่ยนไปตามเวลา หลายๆข้อจึงควรได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริงในปัจจุบัน ในข้อที่เป็นประเด็นเช่น เรื่อง พรบ. ข้อมูลคนไข้ เรื่องการทำ Data Exchange ระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งเรื่องความเป็นไปได้ในการสั่งยาออนไลน์และส่งยาทางไปรษณีย์ ที่ตอนนี้ยังเข้าข่ายผิดกฏหมายอยู่ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
แต่ในอีกมุมหนึ่งเราต้องไม่ลืมว่าเรื่องสาธารณสุขที่ครอบคลุมสุขภาพความเป็นอยู่ รวมถึง “ชีวิต” ของคนไทยนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยการพิจารณาให้ถี่ถ้วน อีกทั้ง Healthcare ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้อง “เดินไปด้วยกัน” ครับ ไม่ว่าจะเป็น regulator ภาครัฐ โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน เภสัชกร ร้านขายยา รวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขอื่นๆ จะไปเดี่ยวๆไม่ได้ ประเด็นนี้จึงมีนัยสำคัญมาก
“ความเข้าใจและพร้อมใจในการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วนคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนา”
PharmaTech ที่มากกว่าแค่เรื่องของยา
ในวงเสวนาเดียวกันได้มีโอกาสฟังน้องดิว จาก PillPocket พูดถึงเรื่องการร่วมมือกับบริษัทยานำข้อมูลคนไข้และการรักษามาวิเคราะห์เชิง Predictive Analysis เพื่อประเมินคาดเดาผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาและรักษาคนไข้ รวมถึงพี่จักรจาก PharmaSafe ซึ่งพยายามนำข้อมูลการใช้ยาของคนไข้ออกจากโรงพยาบาลเพื่อมาเป็นข้อมูลให้คนไข้ได้สานต่อการดูแลรักษาที่บ้านของตน
ดังนั้น PharmaTech จะไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการจัดและจ่ายยาอีกต่อไป แต่จะเป็นการคาบเกี่ยวด้านข้อมูลของเภสัชกรรมและการใช้ยาเพื่อสานต่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลแบบบูรณาการด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เราอยู่ในยุคของการ “ล่าอาณานิคมบนโลกดิจิทัล”
อีกหนึ่งประเด็นที่นึกขึ้นได้วันนี้คือเรื่องบทบาทและการแทรกแซงทางดิจิทัลจากกลุ่มทุนต่างประเทศ
งาน Startup Thailand คราวนี้ทำให้รู้ว่ามีสตาร์ทอัพจำนวนมากเริ่มต้นด้วยเป้าหมายหลักเพื่อ “ระดมทุนและขายต่อ” (Raise & Exit) ให้กับนักลงทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่มีผู้ก่อตั้งเป็นชาวต่างชาติ หลายรายเข้ามาในตลาดไทยพร้อม connection กับกองทุนนอก
ถามว่าผิดไหม? ถ้ามองกันตรงๆก็ไม่ เพราะเราอยู่ในโลกของการค้าเสรี แต่เราต้องไม่ลืมว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมไทย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพสาย Healthcare ที่มีข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทยนับล้าน ถ้าในวันหนึ่งสตาร์ทอัพตัวนี้ถูกเทคไปโดยกลุ่มทุนต่างชาติ ข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทยไม่กลายเป็นทรัพย์สินของคนต่างชาติไปหมดหรือ?
จะเป็นอย่างไรถ้าวันหนึ่งเราตื่นมาพบว่าเราใช้ชีวิตอยู่บน platform digital ที่คนต่างชาติเป็นเจ้าของ? เงื่อนไขการค้า e-commerce ขึ้นอยู่กับคำสั่งจาก HQ ในอเมริกาหรือสิงคโปร์? ราคาสินค้าและบริการทุกอย่างถูกบวกโดยนายทุนจีน? ข้อมูลสุขภาพของเราอยู่ในมือของต่างประเทศ? (และแม้แต่ภาษีประเทศเราก็ยังไปเก็บเขาไม่ได้สักบาทด้วยช่องโหว่ทางกฏหมาย)
การระดมทุนและการคุกคามจากต่างชาติในลักษณะนี้คือแบบอย่างของการ “ล่าอาณานิคมบนโลกดิจิทัล” ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศกลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ครับ
“HealthTech Startup จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะผู้ให้บริการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องถึงข้อมูลสุขภาพของคนไทย”
“Disruption” ไม่ใช่คำตอบเสมอไปในส่วนของการพัฒนาสาธารณสุข
การจะไป “Dirupt” หรือ “สั่นคลอน” อะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากโดยขาดการพิจารณานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควร
“สตาร์ทอัพสาย Healthcare ควรวางวิสัยทัศน์ในแง่มุมของการ Empower และ Transform อุตสาหกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยรอบคอบมากกว่าพยายามที่จะ Disrupt เปลี่ยนโดยทันที”
What’s Next for Health Tech?
อะไรคือสิ่งที่กำลังมาและน่าสนใจในอนาคตของ Health Tech? คือคำถามสุดท้ายที่ผมได้รับบนเวทีเสวนา PharmaTech วันนี้
ในความคิดของผมจากวันนี้ไป Next Curve ของ Health Tech ในประเทศไทยจะไม่ได้เกิดจากสตาร์ทอัพ หรือเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งแต่จะเป็น Collaborative Solution ของสตาร์ทอัพสาย Healthcare ที่ร่วมมือกันพัฒนาจนเป็น Health Startup Network ครับ
เพราะไม่ว่าจะเป็น PharmaTech, PHR, Telemedicine, หรือ regulator ในภาครัฐ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพเท่านั้น แต่เมื่อเราพัฒนาต่อไปเราจะพบว่าการสร้าง impact ให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสาธารณสุขจริงๆ คือการนำส่วนประกอบจิ๊กซอว์เหล่านี้มาต่อเป็นภาพใหญ่
เมื่อ solution จากสตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถสอดรับกันได้เป็นเครื่อข่ายที่เข้มแข็ง มีบริการครบแบบ end-to-end แล้ว เมื่อนั้นสาธารณสุขเมืองไทยก็จะถูก Transform ไปในทางที่ดีขึ้นครับ
“Next Curve ของ Health Tech ในประเทศไทยจะไม่ได้เกิดจากสตาร์ทอัพ หรือเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะเป็น technology ที่เกิดจากความร่วมมือกันของสตาร์ทอัพสาย Healthcare ที่เชื่อมต่อกันเป็น end-to-end Healthcare Solution…”
อนาคตของ Arincare
วันนี้ผมดีใจมากที่มีผู้ใช้งาน Arincare หลายท่านแวะเวียนเข้ามาพูดคุยทักทายเราที่บูทในงานครับ รวมถึงสตาร์ทอัพและ Partner อีกหลายรายที่ได้มาให้ความเห็นและแชร์ไอเดียความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ Arincare ของเรา
ทั้งผมและทีมงาน Arincare ทุกคน เราใส่ใจและให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะติชมจากทุกฝ่าย ซึ่งเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาในการพัฒนาระบบของต่อไป หลายท่านที่เรามีโอกาสพูดคุยและแชร์ไอเดียกันได้สอบถามเราว่า “โครงการนี้จะเป็นไปได้หรือไม่?” “…เราร่วมมือกันทำให้มันเกิดได้ไหม?”
ผมขอให้ความเชื่อมั่นในจุดยืนของ Arincare ว่า
“Arincare พร้อมจะร่วมมือและทำงานกับทุกท่านอย่างเต็มที่ เพื่อทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และสร้างคุณค่าต่อเภสัชกรและผู้ประกอบการร้านขายยา”
ชัดเจนนะครับ =)
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทีมงาน Health Startup Network ที่ให้เกียรติผมได้ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ และขอแสดงความยินดีกับเพื่อนๆทุกท่านในการจัดตั้งสมาคม Thai Healthtech Association ผมดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมและได้มีโอกาสร่วมกันทำเพื่อสังคมครับ