หมวก 3 ใบของร้านขายยาและเภสัชกรชุมชน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมและทีมงานได้มีโอกาสไปทำ Workshop ให้กับกลุ่มผู้ใช้งาน Arincare ในพื้นที่ชลบุรีและพัทยาครับ รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเภสัชกรและผู้ประกอบการร้านขายยา นอกจากจะเป็นการรับฟีดแบคความคิดเห็นแล้วก็ยังเป็นโอกาสที่ดีในการทำความเข้าใจประเด็นความเคลื่อนไหวของสังคมอีกด้วย
สิ่งที่แตกต่างไปในครั้งนี้คือมีหลายคำถามที่แตะถึงประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่มี “ตัวแทนของเชนร้านสะดวกซื้อนายทุนเจ้าใหญ่ของประเทศรายหนึ่ง ได้ติดต่อนำเสนอตัวเองเป็นศูนย์กลางการกระจายยาและเวชภัณฑ์ให้กับเภสัชกรและร้านขายยาชุมชน” ในวงสนทนาที่มีผู้มีอำนาจจากภาครัฐและหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ด้วย
ในรายละเอียดข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นั้นผมขอไม่กล่าวถึง เนื่องจากทางผมและทีมงานไม่ได้อยู่ในวงสนทนานั้นและมิได้ส่วนเกี่ยวข้องใดๆในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ได้ถูกยกขึ้นมาพูดถึงในงาน Workshop เมื่อวันอาทิตย์ในแง่ของคำถามที่ว่า
ทาง Arincare มีความคิดเห็นอย่างไร และในอนาคตเรื่องนี้จะมีผลกระทบใดในจุดยืนของเราบ้างไหม ผมขออนุญาตชี้แจงอีกครั้งถึงจุดยืนของ Arincare ดังนี้:
“เป้าหมายหลักของ Arincare คือการสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายร้านขายยาและเภสัชกรชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานด้านสาธารณสุข และเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่”
“ดังนั้น Arincare จึงไม่เห็นด้วย ในเรื่องการสนับสนุนให้ธุรกิจ กลุ่มทุนหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีสิทธิพิเศษ หรือมีอำนาจผูกขาดระบบการกระจายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ให้กับร้านขายยาและเภสัชชุมชน”
จุดยืนนี้ได้ฝังรากอยู่ในพันธกิจและวิสัยทัศน์ของ Arincare ตั้งแต่วันแรก ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายร้านขายยาและเภสัชชุมชน
เพราะอะไรความเข้มแข็งของเภสัชกรรมชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
เมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา บนเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางและอนาคตของ PharmaTech และ Startup ในอุตสาหกรรมยา” ในงาน Startup Thailand ผมได้มีโอกาสพูดถึงเรื่อง “หมวกหลายใบของเภสัชชุมชน”
ในขณะที่คนทั่วไปเดินเข้าร้านขายยาทุกวัน เขาอาจคิดไม่ถึงว่าเภสัชกรประจำร้านขายยาเหล่านี้มีความสำคัญมากแค่ไหนต่อโครงสร้างสังคมไทย เพื่อให้เห็นภาพผมขอยกหมวกทั้ง 3 ใบหรือ 3 บทบาทของร้านขายยาและเภสัชกรมาขยายความดังนี้ครับ
หมวกใบที่ 1 : ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขพื้นฐานของชุมชน
จากสถิติในปี 2559 ประเทศไทยมีร้านขายยาที่ลงทะเบียนทั้งหมด มากกว่า 18,523 รายในพื้นที่ทุกจังหวัดของประเทศไทย ผลสำรวจเพิ่มเติมของเราพบว่าในแต่ละวันร้านขายยาหนึ่งร้านรับลูกค้าที่เข้ามาโดยเฉลี่ย 200 เคสต่อวัน ถ้าเรามองว่าประมาณร้อยละ 60 ของเคสทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่เข้ามาซื้อยารักษาโรค เราจะพบว่า
“โดยเฉลี่ยในหนึ่งวันร้านขายยาทั่วประเทศให้บริการผู้ป่วยรวมแล้วมากกว่า 2 ล้าน 2 แสนคนต่อวัน”
จากตัวเลขนี้เราน่าจะเห็นได้ว่าร้านขายยาและเภสัชกรชุมชนมีความสำคัญมากเพียงใด ในฐานะ “ด่านแรก” ของการให้บริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ที่ “เข้าถึง”ชีวิตคนไทยมากที่สุดในทุกพื้นที่
หมวกใบที่ 2 : ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจพื้นที่
การทำร้านขายยาที่ประสบความสำเร็จได้นั้น เจ้าของร้านไม่เพียงแค่ต้องเป็นเภสัชกรที่ดี แต่ยังต้องเป็นนักธุรกิจมีความสามารถครบเครื่องอีกด้วย
ในแต่ละวันเจ้าของร้านขายยาคนเดียวมักต้องรับงานทั้งเรื่องขายของ เช็คสต็อค สั่งซื้อ ทำบัญชี ยังไม่รวมบทบาทการเป็นเภสัชกรให้คำปรึกษาที่ดีให้กับลูกค้า
ที่สำคัญคือร้านขายยาเหล่านี้ให้บริการผู้คนในชุมชน เสียภาษี จ้างงาน และใช้จ่ายอยู่ในท้องที่ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เข้าถึงได้ในระดับรากหญ้า ดังนั้นหากรัฐบาลหรือหน่วยงานใดมีนโยบายที่จริงใจในการพัฒนา SMEs ก็ควรส่งเสริมให้ร้านขายยาเหล่านี้อยู่ได้ การให้สิทธิพิเศษหรือสนับสนุนเชนหรือกลุ่มทุนใหญ่กลับเป็นเรื่องที่สวนทางกับนโยบายที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน
หมวกใบที่ 3 : ผู้ที่มีจิตอาสาและอุทิศตนเพื่อสังคม
คุณฟ้า เภสัชกร-CEO ของ ZeekDoc (www.zeekdoc.com) เพื่อนของผมมักพูดเสมอว่า “…ทำงานด้าน Healthcare นี่ได้บุญนะ เพราะสิ่งที่เราลงมือทำอยู่ทุกวันนั้นได้มีส่วนช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง…”
การให้บริการผู้คนจำนวนมากในแต่ละวันเป็นเรื่องที่หนักหนาอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคนเหล่านั้นล้วนมาด้วยความทุกข์ความเจ็บป่วยล่ะจะเป็นอย่างไร?
ลองนึกภาพดูนะครับว่าปริมาณความเครียดของเภสัชกรและร้านขายยาในแต่ละวันนั้นจะมีมากแค่ไหน สำหรับผู้ที่อยู่ทำหน้าที่ตรงนั้น จิตใจเมตตาและเสียสละเพื่อผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
“ผู้ที่ทำงานด้านเภสัชกรรมชุมชนนั้นเป็นผู้ที่มีจิตอาสาและอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง”
การให้บริการด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ
“สิ่งที่ร้านขายยาและเภสัชกรชุมชนเหล่านี้ทำอยู่ทุกวันนั้น มันไม่ใช่แค่การค้า ไม่ใช่แค่ขายของ แต่เป็นการดูแลพื้นฐานคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยให้ถูกควบคุม แทรกแซงหรือผูกขาดโดยกลุ่มทุนใดๆ”
Arincare ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดกับเครือข่ายร้านขายยาและเภสัชกรชุมชนทั่วประเทศครับ
“ร้านขายยาไทยเข้มแข็ง คนไทยแข็งแรง”