Arincare

ข้อคิดจากงานเสวนา “Health Tech in Aging Society”

August 20, 2017

ข้อคิดจากงานเสวนา “Health Tech in Aging Society”

เมื่อวานนี้ผมและเพื่อนๆ ในกลุ่ม Health Tech Startup ได้ไปร่วมเป็น Panelists ในงานเสวนา “Health Tech in Aging Society : ส่องอนาคต สร้างโอกาส สู่สังคมสูงวัย” ซึ่งงานนี้จัดโดย SIE Seminar ที่ CMMU มหาวิทยาลัยมหิดลครับ ซึ่งนอกจาก Arincare แล้วทางผู้จัดงานยังได้เชิญตัวแทนสตาร์ทอัพสายสุขภาพชั้นนำมาร่วมเวทีอีกด้วยครับ โดยผู้ร่วมวงเสวนาทั้งหมดมี

  • Health at Home — คุณหมอตั้ม จาก Health at Home สตาร์ทอัพบริการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่บ้าน
  • Chiiwii — คุณหมอจิ๊บจี้ จาก Chiiwii สตาร์ทอัพ Telemedicine ให้คนไข้ได้ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์
  • MEiD — น้องต้า จาก MEiD สายรัดข้อมือ Wristband เก็บข้อมูลสุขภาพส่วนตัวและข้อมูลฉุกเฉิน
  • และ Arincare — ระบบบริหารจัดการสำหรับร้านขายยาและเภสัชชุมชน

ผมขอสรุปประเด็นสำคัญที่ได้ฟังจากบนเวทีมีดังนี้ครับ

Healthcare Landscape ของไทยกำลังเปลี่ยนไปตามโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง

การที่เมืองไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อโครงสร้างระบบสาธารณสุขไทย เริ่มตั้งแต่การเตรียมพร้อมของหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ หมอตั้มให้ข้อสังเกตุว่า

เมื่ออัตราผู้สูงอายุมีมากขึ้นประเภทอาการของคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาจะเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นอาการ/โรคเฉียบพลัน (Acute Diseases) เป็นโรคเรื้อรัง (Chronic Diseases) ซึ่งเป็นอาการหลักของกลุ่มผู้สูงอายุ การเตรียมพร้อมของแพทย์ เวชภัณฑ์ ยา และบุคลากรต่างๆ จำต้องเปลี่ยนไปตามเทรนด์

อีกทั้งการรักษาพยาบาล Landscape มีการ Shift จากเรื่องของการรักษา (Cure) ไปในส่วนของการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ เช่น Wellness และ Preventive Care


SHIFT: จากโรงพยาบาลสู่บ้านและชุมชน

ต่อเนื่องจากด้านบน การรักษาพยาบาลจากที่บ้านหรือชุมชนจะทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุนั้นไม่สะดวกในการเดินทางและต้องมีการตรวจเช็คเป็นประจำสม่ำเสมอ ส่งผลให้ต้องมี Key Stakeholders (ผู้ที่เกี่ยวข้อง) ต่อระบบสาธารณสุขหลายกลุ่มมากขึ้น

เราจะเห็นว่าผู้ให้บริการด้านสุขภาพนอกโรงพยาบาลในระดับชุมชน เช่น เภสัชกร ร้านขายยา สมาชิกในครอบครัว รวมถึงตัวผู้ป่วยเองที่ต้องศึกษาและมีบทบาทมีส่วนร่วมมากขึ้น การบริการด้านสาธารณสุขไม่ใช่เรื่องที่จำกัดเฉพาะหน้าที่ของแพทย์และพยาบาลอีกต่อไป

โอกาสของสตาร์ทอัพสาย Healthcare ในเมืองไทย

สิ่งหนึ่งที่ทุกท่านบนเวทีเสวนานี้เห็นตรงกันคือ HealthTech (สตาร์ทอัพสายสุขภาพ) นั้นเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างจากสตาร์ทอัพสายอื่นในหลายประเด็นสำคัญ

ที่เด่นชัดที่สุดคืออัตราการเติบโต เป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นสตาร์ทอัพสายสุขภาพที่มีการเติบโตแบบ Hyper Growth หลักร้อยหรือหลักพันเปอร์เซนต์

เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการเติบโตครับ แอพเจ๋งๆไม่ได้ทำให้คนใช้งานสุขภาพดีขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลก็ไม่ได้ช่วยให้คนไข้หายป่วยในชั่วข้ามคืน

ดังนั้นสำหรับ HealthTech สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเงินทุนจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจกลุ่มตลาดเป้าหมาย ความสามารถในการสร้าง Product-Market fit ที่ตอบโจทย์ความต้องการของ Stakeholders ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา ความพยายาม อุดมการณ์และความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ HealthTech รายหนึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง 5 ถึง 10 ปีกว่าจะสร้าง impact และการเติบโตที่ scale ได้ แต่เมื่อสตาร์ทอัพสามารถทำได้แล้วการเติบโตจะเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน (Churn rate ต่ำมากเมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพสายอื่นๆ)

นักลงทุนหรือ VC ต้องมี “มากกว่าเงิน”

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นครับว่าเงินไม่ได้สิ่งสำคัญที่สุด นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนกับ HealthTech ต้องมีให้มากกว่านั้นคือเรื่องของ “อุดมการณ์” และ “ความเข้าใจ” ครับ

ผมขอยกตัวอย่างเคสเรื่องความเข้าใจสักเรื่องครับ เช่นเรื่อง Value-Metric ที่ใช้วัดผลงานของสตาร์ทอัพ

ที่นักลงทุนมักใช้กันบ่อยๆ เช่น GMV (Gross Merchandising Value) หรือ LTV (Life Time Value) ทั้งสอง metric นี้มักถูกนำมาใช้บ่อยๆในการวัดผลงานของสตาร์ทอัพ เพราะทั้งสองตัวนี้มีผลโดยตรงกับการประเมินมูลค่าและรายได้ของสตาร์ทอัพนั้นๆ แต่ถ้าเราลองเอาสองตัวนี้มาใช้กับการบริการด้านสุขภาพแล้วมันหมายถึงอะไรครับ?

GMV หมายถึงจำนวนเงินที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเพื่อ Consult แพทย์ต่อครั้งใช่ไหม? ยิ่งจ่ายค่ายาค่ารักษามาก GMV ยิ่งเพิ่มยิ่งดูดีกับนักลงทุนหรือเปล่า? LTV สำหรับผู้ป่วยสูงอายุโรคเรื้อรังหมายถึงจำนวนเงินที่คนไข้ต้องจ่ายเพื่อรับ treatment ตลอดช่วงอายุที่เหลืออยู่ใช่หรือไม่?

เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตโดยตรง ทั้งยังมีเรื่องของจรรยาบรรณและมนุษยธรรมอยู่ด้วย นักลงทุนที่เหมาะสำหรับ HealthTech นั้นควรเป็นผู้ที่มีเป้าหมายมากกว่าการสร้างรายได้ (Revenue) หรือการเติบโต (Growth) ในระยะสั้น ดังนั้น HealthTech จึงอาจไม่ใช่เวทีของ Valuation-Driven VC ครับ


กฏหมายและ Regulation มีผลมากไหมต่อการทำ HealthTech

มีผลมาก แนะนำให้ศึกษาให้ดีๆ อย่าเพียงคิดว่ากฏหมายที่มีอยู่นั้นล้าหลังและต้อง Disrupt ต้องเปลี่ยนแปลง กฏหมายทุกข้อที่ถูกร่างขึ้นมามีเหตุผลและบริบทที่จำเป็นของมันอยู่ ย้ำว่าให้ศึกษาข้อกฏหมายดีๆ ครับ


ไม่ใช่หมอแต่อยากทำ HealthTech ทำได้หรือไม่?

ทำได้สิครับ ในปัจจุบันเรื่องของการดูแลสุขภาพนั้นมีมากกว่าแค่การรักษาอาการเจ็บป่วย ดังนั้นถึงจะไม่ใช่หมอก็สามารถทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับสุขภาพได้ สิ่งที่ต้องมีคือ Domain Expert ในด้านนั้นๆ

ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถเริ่มทำ HealthTech ได้ แต่ต้องมี co-founder หรือที่ปรึกษาที่มีความรู้ลึกรู้จริง เป็น Domain Expert ในด้านที่ทำ


ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการทำ HealthTech สตาร์ทอัพนั้นต้องเข้าใจบริบทของสาธารณสุขโดยรวม รวมถึงต้องมี mindset ที่ต่างจากสายอื่นๆ ครับ

ขอขอบคุณ SIE Seminar และ CMMU ผู้จัดกงานอีกครั้งที่ให้ความสำคัญกับ HealthTech และจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้กับทุกๆท่านครับ