ยาแก้แพ้ — แบบง่วง หรือ ไม่ง่วง เลือกทานแบบไหนดี?
เวลาเราไปซื้อยาแก้แพ้กับร้านขายยา เรามักจะได้รับคำถามว่า รับแบบง่วงหรือไม่ง่วงดี ยาแก้แพ้ 2 แบบนี้ออกฤทธิ์เหมือนกันหรือไม่ ใช้ได้ผลเหมือนกันหรือเปล่า หรือว่าต่างกันแค่ทำให้เราง่วงหรือไม่ง่วงเท่านั้น? มาอ่านกันเลยค่ะ
ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มยาแอนตี้ฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม สามารถผ่านเข้าสู่สมองไปกดระบบประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงซึม จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง น้ำหนักตัวเพิ่ม ปัสสาวะขัด ตาพร่า หากได้รับยาขนาดสูง อาจพบอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ
ยากลุ่มนี้ใช้รักษาอาการเยื้อจมูกอักเสบ เนื่องจากภูมิแพ้ที่มีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล เยื่อตาขาวอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ที่เป็นตามฤดูกาล อาการคันเนื่องจากแมลงกัดต่อย อาการผื่นพิษ ผื่นภูมิแพ้ อาการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสพืชพิษ สารเคมี และยังบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้
ยาในกลุ่มนี้ เช่น คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate), ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine), ทริโปรลิดีน (triprolidine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), คีโตติเฟน (ketotifen) และ ออกซาโทไมด์ (oxatomide)
ยาแก้แพ้ชนิดนี้ออกฤทธิ์เช่นเดียวกันกับยาแก้แพ้แบบง่วง แต่ผ่านเข้าสมองน้อยมาก จึงทำให้ง่วงซึมน้อยกว่า และมีอาการข้างเคียงเช่น ปากแห้ง จมูกแห้ง คอแห้ง ตาพร่า น้อยกว่า
ยาต้านฮีสตามีนประเภทนี้ สามารถใช้รักษาอาการต่างๆ ได้คล้ายกับกลุ่มเดิม แต่อาจให้ผลบรรเทาอาการน้ำมูกไหล อาการเมารถ เมาเรือ ไม่ดีเท่ากลุ่มแบบง่วง
ยาในกลุ่มนี้ เช่น เซทิริซีน (cetirizine), เลโวเซทิริซีน (levocetirizine), เฟโซเฟนาดีน (fexofenadine) และ ลอราทาดีน (loratadine) เป็นต้น
ยาแก้แพ้ แม้จะหาซื้อได้ง่าย แต่ผู้ใช้ก็ต้องระวังเป็นอย่างมาก ระวังการใช้ในเด็กเล็ก ห้ามใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และผู้ที่มีประวัติคลื่นหัวใจผิดปกติ ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง อาจเกิดปฏิกิริยากับยาฆ่าเชื้อบางชนิด หญิงที่มีครรภ์ต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาแก้แพ้ทุกครั้ง ควรบอกโรคประจำตัว ยาและอาหารเสริมที่ทานอยู่ อ่านคำแนะนำการใช้ยา และสอบถามข้อระวังการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งนะคะ ^^