HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

เป็น เกลื้อน รักษาอย่างไร?

July 17, 2018

เป็น เกลื้อน รักษาอย่างไร?

โรคเกลื้อน (Tinea Versicolor) เป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนังชนิดหนึ่ง ปรากฎลักษณะเป็นดวงเล็กๆ ที่มีสีเข้มหรืออ่อนกว่าผิว พบได้ในหลายส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดที่ลำตัวหรือต้นแขน อาจขึ้นเป็นดวงเดียวหรือหลายดวง พบได้มากขึ้นในอากาศที่ร้อน อาจทำให้ผิวแห้ง ตกสะเก็ด และคันได้

สาเหตุของโรคเกลื้อน

เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งจริงๆ แล้วผิวเราก็มีเชื้อราจำพวกนี้อยู่แล้ว แต่หากมีมากกว่าปกติ ก็จะแสดงอาการติดเชื้อ สันนิษฐานว่าอากาศร้อน ผิวมัน มีเหงื่อออกมากเกินไป ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเมื่ออายุช่วงวัยรุ่น อาจทำให้เชื้อรา ชนิดนี้เติบโตมากกว่าปกติ

คนมักเข้าใจผิดว่า การเป็นเกลื้อนเกิดจากสุขอนามัย ซึ่งจริงๆ แล้ว เกลื้อนเติบโตได้ในทุกเพศทุกวัย แม้จะดูแลสุขอนามัยอย่างดีก็ตาม แต่จะไม่แพร่ไปหาคนอื่น

การรักษาโรคเกลื้อน

สามารถรักษาโดยการใช้แชมพูขจัดเชื้อราที่มีตัวยา เช่น คีโตคอนาโซล (ketoconazole) หรือ ซีลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulphide) สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยใช้ทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อราทิ้งไว้ 5 – 10 นาที แล้วล้างออก ควรทาซ้ำนาน 5 – 7 วัน แชมพูยาซีลีเนียมซัลไฟด์จะมีความแรง สามารถนำไปเจือจางน้ำก่อนทาได้ เพื่อลดอาการแสบร้อนผิวหนัง

ใช้ครีมหรือเจลยาต้านเชื้อราควบคู่ไปด้วยวันละ 1 – 2 ครั้ง เช่น ครีมโคลไตรมาโซล, เทอร์บินาฟีน หรือ ไมโครนาโซล เป็นต้น

หากมีการติดเชื้อในวงกว้าง อาจทานยาต้านเชื้อรา เช่น ฟลูโคนาโซล หรือ ไอทราโคนาโซล ควบคู่ด้วยเป็นระยะเวลา 1 – 4 สัปดาห์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลารักษานานหลายสัปดาห์กว่าจะเป็นปกติ

หากหายแล้ว ในช่วงหน้าร้อนหรืออากาศชื้น สามารถใช้แชมพูขจัดเชื้อราทุกๆ 2 – 4 สัปดาห์ หรือวันละครั้งในวันที่มีเหงื่อออกมาก หรือทำกิจกรรมที่ต้องเจอความร้อนมากๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อรา