7 พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้ร่างกายขาดแมกนีเซียม
การขาดแมกนีเซียมนั้นเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพร่างกาย สุขภาพหัวใจ สุขภาพกระดูก และสุขภาพจิต แม้ว่าคนที่ขาดแมกนีเซียมจริงๆ อาจมีไม่มาก และส่วนใหญ่มักตรวจไม่พบหากไม่ขาดอย่างรุนแรง แต่หากขาดอ่อนๆ เป็นเวลานานก็ทำให้สุขภาพแย่ลงได้มากทีเดียว มาเช็คกันเถอะว่า เราทำพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้ร่างกายขาดแมกนีเซียมทั้ง 7 อย่างนี้อยู่หรือเปล่า?
1. ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ
น้ำหวานอัดลมสีเข้มๆ มักมีฟอสเฟสอยู่ ซึ่งฟอสเฟสจะไปจับกับแมกนีเซียมในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้ หมายความว่า แม้คุณจะทานอาหารดีต่อสุขภาพ แต่หากดื่มน้ำอัดลมกับอาหารแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถดึงแมกนีเซียมไปใช้ได้เลย
2. ทานอาหารประเภทขนมปัง เค้ก ขนมหวานๆ และอาหารหวานๆ เป็นประจำ
อาหารที่ปรุงจากน้ำตาลขัดสี นอกจากจะไม่มีแมกนีเซียมอยู่เลยแล้ว ยังทำให้ร่างกายขับแมกนีเซียมออกทางไตอีกด้วย เพราะกระบวนการทำน้ำตาลขัดสีนั้นจะทำให้กากน้ำตาล (โมลาส) หมดไป
3. มีความเครียดสูงเป็นประจำ หรือผ่านการผ่าตัดใหญ่มาก่อน
ความเครียด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการขาดแมกนีเซียม และการขาดแมกนีเซียมนั้นยังทำให้อาการเครียดแย่ลงกว่าเดิม จากการศึกษาพบว่า เมื่อร่างกายมีความเครียด จะทำให้ปริมาณแมกนีเซียมในเลือดต่ำลง ซึ่งความเครียดของร่างกายนี้อาจจะมาจาก ความเครียดทางจิตใจ การผ่าตัด หรือในร่างกายที่ต่อสู้กับภาวะโรคภัยนานๆ
4. ดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ
ปริมาณของแมกนีเซียมในร่างกายถูกควบคุมโดยไต ซึ่งทำหน้าที่กรองและปล่อยแมกนีเซียม รวมไปถึงแร่ธาตุอื่นๆ แต่คาเฟอีนทำให้ไตปล่อยปริมาณแมกนีเซียมออกมามากกว่าปกติ อาจทำให้เกิดภาวะขาดแมกนีเซียมได้
5. ทานยาเหล่านี้เป็นประจำ
ยาขับปัสสาวะ ยาโรคหัวใจ ยาโรคหอบหืด ยาคุมกำเนิด หรือทานฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมเป็นประจำ
6. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 7 แก้วต่อสัปดาห์
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์กว่า 30% เป็นโรคขาดแมกนีเซียม เพราะแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการขับปัสสาวะ ก่อให้เกิดอาการแมกนีเซียมในเซลล์ต่ำ เพราะมีการขับแมกนีเซียมออกทางไตมากกว่าปกติ
7. ทานแคลเซียมและแมกนีเซียมคู่กัน ในปริมาณน้อยกว่า 1 : 1
จากการศึกษาพบว่า หากปริมาณการทานแมกนีเซียมต่ำ การทานแคลเซียมอาจทำให้การดูดซึมและการกักเก็บแมกนีเซียมในร่างกายต่ำลงได้ แนะนำให้ทานแมกนีเซียมและแคลเซียมในปริมาณที่เท่าๆ กัน