FEATURED การบริหารร้านขายยา

เจาะแก่นเนื้อหา “ทิศทางและยุทธศาสตร์ของร้านยายุคดิจิตอล” (LAW, BIG DATA, HEALTH SYSTEM) ตอนที่ 1

March 10, 2019

เจาะแก่นเนื้อหา “ทิศทางและยุทธศาสตร์ของร้านยายุคดิจิตอล” (LAW, BIG DATA, HEALTH SYSTEM) ตอนที่ 1

จาก “งานประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2562

บรรยายโดย ภญ.เนตรนพิศ สุชนวณิช และอาจารย์ไพศาล ลิ้มสถิตย์

เรียบเรียงเนื้อหาและเขียนบทความโดย

ภก.วิรุณ เวชศิริ
Chief Pharmacist
Arincare

เนื้อหาจะแบ่งออกเป็นสองตอน โดยตอนที่หนึ่งนี้จะเป็นช่วงบรรยายโดย ภญ.เนตรนพิศ สุชนวณิช อดีตผู้บริหารสำนักงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และตอนที่สองจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมายและสถานการณ์ด้าน e-health โดยอาจารย์ไพศาล ลิ้มสถิตย์

เนื้อหาตอนที่หนึ่งมีดังต่อไปนี้ครับ

ในปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอุตสาหกรรมและแน่นอนวงการสุขภาพก็เป็นหนึ่งในนั้น บทความนี้จะเริ่มให้ผู้อ่านได้เข้าใจศัพท์พื้นฐานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเช่น IoT, Big Data, Blockchain จากนั้นจะเล่าถึงประวัติความเปลี่ยนแปลงของร้านยาและหน่วยบริการสุขภาพสู่ระบบดิจิตอล และสุดท้ายจะชี้ให้เห็นว่าการที่ร้านยาสามารถเชื่อมสู่ระบบดิจิตอลได้จะเกิดประโยชน์อะไรและเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงได้ร้านยาควรทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง

1. เข้าใจตรงกันเรื่องศัพท์ดิจิตอล

  • Internet of Thing (IoT)

Internet of Thing (IoT) คือ การเชื่อมต่อของอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดระบบที่สามารถสั่งงานจากไหนก็ได้ เกิดข้อมูลมากมาย ทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้าง (Structure data) และไม่มีโครงสร้าง (Unstructure data) เช่น รูป วีดีโอ นำไปสู่การทำให้เกิด Big data หรือข้อมูลจำนวนมหาศาล

  • Big data

Big data มีคำจำกัดความที่หลากหลายมาก โดยต้องมีคุณลักษณะอย่างเช่น มี volume หรือข้อมูลจำนวนมาก เช่น google , facebook มีข้อมูลมหาศาลส่วนตัวของผู้ใช้จำนวนมาหาศาล และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลจากตลาดหุ้น หรือ จาก IoT ข้อมูลมีการทำงานร่วมกัน มีความถูกต้อง ไม่มั่ว มีการปรับปรุงเป็นปัจจุบัน

ในปัจจุบันเราพบว่า ด้วยการมีข้อมูลจำนวนมาก สามารถทำให้เกิดระบบการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เครื่องสามารถประมวลผลตอบให้เราได้ในลักษณะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งความจริงแล้วมีการใช้มานานหลายปีมาก ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เมื่อสมัย 20–30 ปีก่อนร้านค้าปลีกในอเมริกามีการจัดเรียงเบียร์และผ้าอ้อมเด็กมาวางไว้ด้วยกัน เพราะระบบมีการทำ data mining ทำให้ที่รู้ถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อ ว่ามักซื้อสินค้าประเภทนี้ไปด้วยกัน เมื่อนำมาหาเหตุผลย้อนหลังก็พบว่า เป็นเพราะในช่วงเวลาสุดสัปดาห์ พ่อบ้านมักจะเลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับการดื่มเบียร์

สำหรับร้านยาควรจะปรับตัวสู่ด้าน digital ด้วย แต่จุดเริ่มต้นใหญ่คือ ร้านยาเองต้องปฏิวัติตัวเองก่อน ด้วยการเริ่มเก็บข้อมูลของร้านในระบบ digital

  • Blockchain

Blockchain เป็นระบบการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้ข้อมูลที่เราได้รับ update ถูกต้องตรงกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ หากร้านยายังไม่เริ่มบันทึกข้อมูล คนไข้ก็จะไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น คนไข้ต้องถูกถามคำถามเดิมซ้ำๆ เช่น แพ้ยาอะไรบ้าง มีโรคประจำตัวหรือไม่ ทั้งๆ ที่สามารถส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยบริการกันได้ เมื่อหน่วยบริการไม่รู้ข้อมูล ก็อาจทำให้คนไข้ได้รับยาซ้ำซ้อนได้ ข้อมูลจากการให้บริการก็ไม่สามารถนำไปใช้ในงานวิจัยต่อได้ หรือแม้ไม่สามารถป้องกัน ADR หรืออาการไม่พึงประสงค์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปีที่ผ่านมามีคนไข้ HIV ที่จำเป็นต้องได้ยา ARV และยากลุ่ม Ergot จำนวนไม่น้อย ซึ่งยาทั้งสองกลุ่มมีอันตกิริยาระหว่างกัน (ยาตีกัน) ทำให้คนไข้ต้องถูกตัดขา การมีข้อมูลการรับประทานยาในสถานพยาบาลสามารถป้องกันเหตุนี้ได้ แต่พบว่า สำหรับร้านยา ยังไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลหรือระบบการบอกแจ้งเตือนให้ร้านยาได้บอกกับคนไข้สำหรับยากลุ่มนี้

ดังนั้น ถ้าสถานบริการสุขภาพและร้านยาสามารถแชร์ข้อมูลกันได้ และถูกต้องตรงกัน ก็จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลผู้ป่วย

คำถามสำคัญในส่วนนี้คือ ร้านยาได้เริ่มต้นเก็บข้อมูลในระบบดิจิตอลแล้วหรือยัง?

2. การเปลี่ยนแปลงของร้านยาสู่ระบบดิจิทอล

ต้องถามผู้ประกอบการร้านยาตั้งแต่แรก ว่ามีเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร เช่น

  • เพื่อการทำร้านยาให้ได้กำไรสูงสุด
  • เพื่อการบริการคนไข้ให้ได้มีประสิทธิภาพ
  • เพื่อสร้างระบบบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้น

ถ้าโจทย์คือ ต้องการได้กำไร ก็ตรงไปตรงมา ให้ดูว่าผู้ซื้อที่ร้านยาต้องการอะไร ผู้ซื้อไทยเปลี่ยนความต้องการเร็วมาก ผู้ประกอบการต่างประเทศ มักจะสืบโดยหาว่าคนไทยต้องการอะไรแล้วนำมาประมวลผลเพื่อเสนอสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ

ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน การซื้อสินค้าบน website จะมีการส่งภาพโฆษณาแตกต่างกันจากพฤติกรรมการท่อง website ในอดีตที่แตกต่างกันของผู้ซื้อ ซึ่งสะท้อนถึงระบบการเก็บข้อมูลและระบบการแนะนำสินค้าจากข้อมูลดังกล่าว

ประวัติการเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมต่อของร้านยาร่วมไปกับระบบสุขภาพหลักของไทย

มีการศึกษาในปี 2553 คนกรุงเทพ ส่วนใหญ่ที่เจ็บป่วยระดับกลางถึงมากมักจะไปโรงพยาบาลหรือคลินิค ส่วนการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็มักจะไปร้านยา ซึ่งพฤติกรรมนี้สอดคล้องกับความพยายามในการนำร้านยาเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ

อย่างไรก็ดี ในอดีตร้านยาเคยถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องคุณภาพ จึงมีความพยายามผลักดันเรื่องร้านยาคุณภาพให้เป็นจำนวน outlet หรือหน่วยให้บริการในจำนวนที่เพียงพอ โดยเฉพาะเขตเมืองซึ่งร้านยามีบทบาทมาก

ตามความเป็นจริงแล้ว คนไข้คนหนึ่งมักไม่ได้ใช้บริการสุขภาพแค่เพียงในโรงพยาบาล เพราะจะมีสถานพยาบาลในระดับต่างๆ ร่วมด้วย เช่น อนามัย รพ.สต.​ ร้านยา หรือแม้แต่การดูแลเจ็บป่วยที่บ้าน พฤติกรรมการบริการสุขภาพจึงเป็นการเคลื่อนไหวส่งต่ออย่างต่อเนื่อง จาก Primary care สู่ intermediate และสู่ long term care

ข้อมูลจึงมีการเคลื่อนย้ายไปจากหน่วยบริการต่างๆ หน่วยบริการในระดับต่างๆ จึงควรมีข้อมูลของคนไข้รองรับสำหรับการเข้ารับบริการด้วย

ไม่นานมานี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับเงินจากรัฐบาลในโครงการดูแลผู้ป่วยแบบ Long term care สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การดูแลผู้สูงอายุ โดยมีการให้ค่าดูแล Care giver และทำร่วมกับชุมชน ซึ่งจะมีแนวคิดใหม่เรื่องการใช้แหล่งของเงินผสมผสานกัน ร้านยาอาจเป็นส่วนหนึ่งของ care givers และถ้า หน่วยบริการหรือร้านขายยาคิดว่าเงินไม่พอ อาจใช้วิธีการนำเงินท้องถิ่นเข้ามาประกบเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้เกิดบริการได้ เช่น ผนวกกับกองทุนประกันสังคม หรือ สวัสดิการข้าราชการ หรือ เงินสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นเช้ามาเพิ่ม

ในปี 2552 เคยมีความพยายามในการทำโครงการบัตรเดียวใช้บริการที่ไหนก็ได้ในจังหวัด โดยผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการจังหวัด ทางผู้จัดทำจึงตั้งคำถามว่า ถ้าสามารถบูรณาการข้อมูลผู้ป่วย เชื่อมกับระบบสิทธิกับข้อมูลเลข 13 หลักและเชื่อมกับระบบทะเบียนราษฎร์ ก็จะทำให้ดูแลคนไข้ตามระบบนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงในเวลานั้นยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยมีกรณีศึกษาหนึ่ง พบว่า คนไข้ได้ไปใช้บริการ รพ.ชุมชนแห่งหนึ่ง ได้ยา Ibuprofen มาแล้วไม่หาย แต่คนไข้ตัดสินใจไม่กลับไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเดิมแต่ไป รพ.ศูนย์ ซึ่งได้ naproxen กลับมา ความหมายคือ คนไข้ได้ยา NSAIDs ซ้ำ ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อคนไข้อย่างชัดเจน

3. การพัฒนาระบบเชื่อมต่อระบบข้อมูลสุขภาพ (Big data กับงานเภสัชกรรม)

มีกรณีของประเทศไต้หวัน มีการรวมตัวกันของร้านยาจำนวน 200 ร้าน มีการทำระบบส่งต่อแชร์ข้อมูลจากร้านยาไปสู่โรงพยาบาล ผลปรากฎว่า ระบบหลักประกันสุขภาพได้พยายามทำการเชื่อมข้อมูลเข้าสู่ระบบไปมาอย่างสมบูรณ์ เมื่อคนไข้ไปใช้บริการที่โรงพยาบาล และเสียบบัตร smart card และหมอเสียบบัตรประจำตัวของหมอ หมอก็จะเห็นข้อมูลคนไข้ และประวัติการรักษาทั้งหมด ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยรวมลดลง ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาซ้ำซ้อนในโรคเดียวกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

สำหรับประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอให้รวบรวมข้อมูลการเจ็บป่วยรายโรค ทั้ง OPD, IPD ให้อยู่ในระบบและมองเห็นได้ มีข้อมูลการ complain จากผุ้รับบริการและผู้ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงแล้วร้อยเชื่อมข้อมูลทั้งหมดมาบูรณาการเป็น patient center ซึ่งดูจากหลักการแล้ว น่าจะดีเหมือนกับที่หลายคนฝันอยากเห็น

ข้อมูลดังกล่าวก็สามารถนำมาวิจัยต่อได้ โดยผู้ทำการวิจัยจะแปลงเลข 13 หลักให้เป็นรหัสที่ไม่สามารถแปลงกลับได้ ซึ่งสะท้อนทว่าได้ทำการรักษาความลับของผู้ป่วย

มีตัวอย่างในประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้ดำเนินการนำข้อมูลบุคคลร้อยเชื่อมกับข้อมูลการเจ็บป่วยเป็นผลสำเร็จแล้ว โดยถ้าคนไข้เปิดมือถือจะบอกว่าข้อมูลการเจ็บป่วย ผลการตรวจเลือด ตลอดไปถึงการแนะนำว่าอาหารที่ควรรับประทานคืออะไรที่จะเหมาะต่อสภาวะสุขภาพ คือ เอาข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาชนเข้ากับพฤติกรรมของเรา เช่น ถ้ากินมัน กินเค็ม ก็ต้องลดอะไรบ้าง

ประเทศไทยเองก็ได้พัฒนาข้อมูลในลักษณะนี้อยู่ โดยขณะนี้มีทีมงานที่มีการร่วมมือระหว่าง กทม. ได้ทำระบบเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลภูมิพล ทำการเชื่อมตารางนัดคนไข้ มีข้อมูลทางคลินิก และสามารถแจ้งให้คนไข้ทราบได้ว่าอยู่ในสภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพแบบใด เช่น high risk หรือ low risk ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

ซึ่งในอนาคต หากมีการเปิดโอกาสให้ร้านยาเข้าร่วมในระบบดังกล่าว ร้านยาก็จะยืนอยู่บนพื้นฐานของ Patient center ซึ่งในตอนนี้หากร้านยาสามารถเริ่มต้นการบันทึกข้อมูลเข้าระบบและสามารถนำข้อมูลนั้นเข้ามาแชร์ร่วมกับระบบกลางได้จะเกิดประโยชน์ต่อคนไข้มาก หากสามารถสร้างการเชื่อมต่อกับระบบดังกล่าวได้ จะทำให้เกิด Big data และร้านยาจะเป็นสมาชิกหนึ่งของ Big data ข้อมูลจะถูกนำมาผนวกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน ทำให้สามารถประมวลสภาวะทางสุขภาพของประเทศได้อย่างถูกต้อง โดยระบบดังกล่าวกำลังจะแล้วเสร็จใน 1–2 เดือนนี้ ซึ่งองค์กร JIGA อยากทำให้ระบบดังกล่าวเกิดในประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบนำร่องให้ได้

แต่จุดเริ่มต้น เจ้าของร้านยาทุกท่านจะต้องเปลี่ยนการบันทึกข้อมูลเป็นระบบดิจิทัล โดยเริ่มจากต้องคุยกัน ต้องปรับตัว ต้องกำหนดชนิดของข้อมูล ว่าข้อมูลอะไรที่ร้านยาอยากได้ และข้อมูลอะไรที่ร้านยาจะส่งกลับให้ระบบกลางบ้าง เพื่อที่จะทำให้มีการดูแลข้อมูลคนไข้ได้อย่างเหมาะสมสำหรับคนไข้ในแต่ละคน และเภสัชกรสามารถดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น