ขอซื้อยาฆ่าเชื้อเพื่อใช้แก้หวัด
เดิมทีผมไม่ค่อยจะรับตอบคำถามเรื่องยาและสุขภาพผ่านทาง social media ครับ ด้วยเหตุผลส่วนตัวว่าถ้าจะให้คำปรึกษาอยากเห็นหน้าค่าตาอยากพูดอยากถาม มากกว่าที่จะพิมพ์เล่าข้อความเป็นตัวอักษร อยากฟัง อยากดู และอยากให้คนไข้ไปพบกับหมอกับเภสัชกรใกล้ๆตัวเพราะจะได้มีโอกาสพูดคุยซักถามในเชิงลึกได้มากกว่า
แต่หลายครั้งเหมือนกัน ที่มีคำถามจากเพื่อน จากคนไข้ใกล้ตัว ถามซ้ำๆ ย้ำๆ กลับมาในเรื่องเดิมๆ ปัญหาเดิมๆ ทำให้คิดว่า ถ้าได้มีโอกาสเอาตัวอย่างเรื่องพวกนี้มาเล่าบ้าง ก็อาจจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ ท่านที่มีปัญหาเดียวกัน อีกทั้งจึงขอเล่าเป็นเรื่องๆ ที่พอจะได้พบประสบมาอยู่บ้างครับ
ช่วงนี้เข้าหน้าฝนอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งในร้านยาเองก็พบคนไข้ป่วยเป็นไข้หวัดกันเป็นว่าเล่น จึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้เล่าประสบการณ์การให้บริการสำหรับคนไข้ป่วยด้วยโรค “ไข้หวัด” ธรรมด้า ธรรมดา กรณีหนึ่งครับ
==========================
— มาขอซื้อยาฆ่าเชื้อเพื่อแก้หวัด —
เรื่องที่จะเล่าครั้งนี้ เป็นกรณีศึกษาจากพี่วันดีครับ (ชื่อสมมุตินะครับ ไม่ต้องไปตามหาตัวจริงแกนะครับ)
พี่วันดี ผมขอเรียกแกพี่ละกัน พี่จะได้ฟังดูสาวๆ
ซึ่งเอาจริงๆ อายุพี่ท่านก็ดูจะห่างจากผมไปราวรอบนึงเห็นจะได้ครับ
พี่วันดีตรงเข้ามาในร้านยาที่ผมยืนอยู่ พร้อมกับตะโกนเข้ามาในร้านว่า “น้องเภสัช เอายาฆ่าเชื้อแรงๆ ชุดนึง!”
พี่วันดีมีอาชีพเป็นครู อายุ 50 นิดๆ
เป็นคนเมืองที่ค่อนข้างจะมีความรู้ดีเชียวหละ
ก่อนมาที่ร้านก็ใช้ google ค้นหาข้อมูลมาประมาณนึงแล้ว
“เอา ซิโทรแม๊กซ์ กล่องนึง, เอาไทลีนอล, ไบโซลวอน แล้วก็ แอคติเฟด” 🥣
“สั่งมาเป็นชุดเลยครับ แต่ผมขอขัดจังหวะนิดนึง ขอผมทราบอาการพี่หน่อยได้มั๊ยครับ มีอาการยังไงบ้าง และเป็นมากี่วันแล้วครับ” … ขอทราบหน่อยเถอะสั่งยาเองทั้งหมดหนะมันควรใช้จริงมั๊ย
“ก็เมื่อ 2 วันก่อนมาเอาพาราไปจากน้องนี่แหละ แต่ไม่หาย”
“ตอนนี้ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไอ มีเสมหะ แต่ไม่เจ็บคอ ที่ไอมากก็ตอนกลางคืน”
“มีน้ำมูกจ๊ะ ใส ไม่ข้น”
“ช่วงนี้พี่นอนน้อย เพราะต้องออกข้อสอบเด็ก”
“ผมขอส่องคอนิดนึงนะ …. ไม่มีคอบวมแดงเลยครับ”
“พี่ว่า เอายาตามที่พี่ตั้งใจมานั่นแหละ พี่ค้นมาแล้ว!”
“รอบที่แล้วหมอก็สั่งมาแบบนี้แหละ พี่หาย” 😂😂😂
===========================
ในประเทศไทยนั้น นอกจากที่จะไม่มีระบบ prescription
หรือระบบที่แยกระหว่างการตรวจ และการสั่งยา
ซึ่งเป็นการแบ่งหน้าที่ระหว่างหมอและเภสัชกรอย่างชัดเจนแล้ว
ปัจจุบันมีรูปแบบที่คนไข้สั่งยาให้ตัวเอง
จากชุดข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่อย่างเกลื่อนกูเกิ้ล
แต่คงจะต้องกรองอีกหลายชั้นถึงจะนำมาใช้อ้างอิงจริงๆได้ 😂😂😂
บุคลากรด้านสุขภาพควรยืนหยัดในหลักการของตนนะครับ
ไม่งั้นคนไข้จะได้ยาเกิน ใช้ยาพร่ำเพรื่อเกินจำเป็นแน่ๆ
ถ้าปล่อยให้สั่งยากินเองได้แบบนี้
============================
“พี่วันดีครับ จากที่พี่เล่ามา พี่ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว
ไอบ้าง แต่ไม่เจ็บคอ มีเสมหะบ้าง มีน้ำมูก”
“อาการที่ว่ามา เป็นอาการของไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) เลยครับพี่
ส่องคอดูแล้ว ไม่บวมแดง เจ็บคอไม่มาก ไม่มีสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียครับ”
“พี่วันดีทราบมั๊ยครับ อาการหวัดกว่า 80% เกิดจากเชื้อไวรัส
ส่วนน้อยจริงๆ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งถ้าพี่กินยาฆ่าเชื้อ
ความหมายคือ พี่จะกินมันไปโดยไม่จำเป็นเลย
เพราะข้าศึกเป็นไวรัส แต่พี่กินยาฆ่าแบคทีเรียไป
เหมือนกับหยิบดาบไปผิดเล่ม ฟันข้าศึกยังไงก็ไม่ถูก”🤺🤺🤺
“แล้วถ้าพี่หยิบดาบผิดเล่มนี้ไปเรื่อยๆ ดาบเล่มนี้ของพี่จะทู่
ถ้าเกิดติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นมาจริงๆ แล้ว
ดาบเล่มนี้จะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ว่าไม่ได้เลย
พี่ต้องเตรียมดาบเล่มใหม่ไปเรื่อยๆ
ซึ่งจะว่าไปแล้ว เจ้ายาตัวที่พี่เลือกนี่ก็เกือบจะสุดละ”⚔️
“อ้าวเหรอ … แล้วปกติยาฆ่าเชื้อเค้าให้ตอนไหนอะ”
“ถ้าผมจะให้ยาฆ่าเชื้อพี่นะครับ ผมจะดูก่อนว่า
พี่คอหอยอักเสบรึเปล่า หรือ หูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ
ซึ่งยาฆ่าเชื้อพื้นฐานแล้ว ต้องกินต่อเนื่องซึ่งมักไม่ต่ำสัปดาห์เลยครับ
ต้องให้ยาฆ่าเชื้อมันให้เรียบ อย่างให้เหลือเชื้อที่จำสูตรยาเราได้เลย
เพราะถ้ามันจำได้ ครั้งหน้าเราจะใช้ตัวเดิมไม่ได้แล้วด้วย”
“อะๆ …. งั้นพี่ควรใช้ตัวไหนได้บ้างอะ”😤😤😤
“โดยปกติแล้ว โรคหวัดจากเชื้อไวรัสต้องให้ภูมิคุ้มกันของเราเองช่วยรักษา
ผมขออนุญาตให้ยาบรรเทาอาการไปก่อนนะครับ”
“ปวดหัว ผมขอให้ Paracetamol แก้หวัดเหมือนเดิม หรือจะใช้ Ibuprofen ก็ช่วยลดไข้ ลดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวได้ ซึ่งใช้ได้ถ้าพี่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องโรคกระเพาะหรือเคยแพ้ยามาก่อน”
ก่อนที่จะละจากปัญหาเรื่องแพ้ยาไป โชคดีที่ผมได้มีโอกาสเหลือบไปเห็นประวัติของพี่วันดีที่บันทึกอยู่ในโปรแกรมร้านขายยาที่ชื่อ arincare.com ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยเก็บข้อมูลของพี่วันดีเอาไว้ก่อน ซึ่งพี่เค้าเคยให้ข้อมูลว่า เคยแพ้ยา Ibuprofen มาก่อน และแน่นอน คนที่เคยแพ้ก็จะแพ้ยากลุ่ม NSAIDs ที่มีโครงสร้างคล้ายๆ กันด้วย
โชคดีที่โปรแกรมที่ร้านมีระบบการเตือนเภสัชกรก่อนขายยาด้วยว่าคนไข้คนนี้เคยแพ้ยาอะไรมาก่อนแล้วบ้าง อย่างตามหน้าจอด้านล่าง จะมีขึ้นเตือนเลยว่าพี่วันดีแพ้ยา ibuprofen ทำให้ก่อนจ่ายก็ได้ฉุกคิดซ้ำอีกครั้ง
และสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเชิงลึกที่เคยบันทึกเก็บไว้ได้
ดังนั้น เรื่องการลดไข้ ก็ตัดปัญหา NSAIDs ไป และแนะนำพี่เค้าให้ใช้ Paracetamol ก็ปลอดภัยกว่า แต่ให้กินตามน้ำหนักตัวและใช้ในปริมาณและเวลาที่จำกัด เพื่อไม่ให้มีผลต่อตับ
“เรื่องน้ำมูก ผมแนะนำว่าคงต้องหายาแก้แพ้ แต่เอาแบบไม่ง่วง เพราะพี่ต้องทำงาน แอบหลับไม่ได้ ซึ่งในร้านผมเนี๊ยะ มี 3 ตัวยาเลย คือ
“Telfast หรือ Fexofenadine 60 mg. มีฤทธิ์ทำให้ง่วงน้อยสุด แต่ตัวนี้ออกฤทธิ์ช้า หมดฤทธิ์เร็ว เลยต้องกินวันละ 2 ครั้ง แถมราคายังแพงหน่อย ถ้าเป็นยานอกจะอยู่สักแผงละร้อยกว่าบาท แต่ของไทย 80 บาท
“แต่ถ้าเน้นคุ้มค่า ก็ใช้พวก Loratadine หรือ Cetirizine ก็ได้ ข้อดีคือ กินแค่วันละครั้ง แผงละ 10 เม็ดเหมือนกัน แต่ราคาถูกกว่ายาตัวแรกเกือบหนึ่งในสาม”
“งั้นสรุปคือ …… ” 🧐🧐🧐
“ครับ ผมจะจ่ายยาพี่แค่ 2 ตัว คือ
1. ยาลดไข้ Paracetamol ครับ ขอให้ไป 2 แผงนะครับ ทานเมื่อมีอาการ ครั้งละ 2 เม็ดนะครับ เพราะพี่หนัก 60 กิโล เราให้ยาตามน้ำหนัก แต่อย่ากินเกินวันละ 8 เม็ดนะครับ”
“ตัวที่ 2 ผมให้ Cetirizine 10 mg. นะครับ ตัวนี้กินง่าย วันละครั้งก่อนนอนก็ได้ ออกฤทธิ์ได้นานทั้งวันเลย เอาไปแผงนึงนะครับ”
“เอ้า แล้วที่พี่หาๆ กูเกิ้ลมาตัวอื่นๆ พี่ไม่ต้องเอาไปด้วยเหรอ”
“ไม่ต้องแล้วครับ เพราะไม่จำเป็นเลยครับ
ตอนนี้ เราเน้นที่การช่วยบรรเทาอาการปวดหัว ไอ และน้ำมูกไหลของพี่ก่อน”
“และขอให้ทำตามนี้ไปพร้อมๆ กันนะครับ ให้ดื่มน้ำตามมากๆ จะช่วยละลายเสมหะได้ และขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ ให้รักษาร่างกายให้อุ่นเสมอ นอนห่มผ้า และอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนั้น อยากให้หาแมสปิดปากป้องกันไม่ให้หวัดไปติดคนอื่นด้วยนะครับ”
“เรานัดกันอีก 1 สัปดาห์ ผมเชื่อว่าถ้าพี่พยาบาลตัวเองดี อาการน่าจะดีขึ้น แต่ถ้ายังมีไข้ เจ็บคอ บวม แดง น้ำมูกเขียว แบบนั้นแสดงว่าคุมอาการยังไม่ได้ ก็อาจจะต้องกลับมาใช้ยาฆ่าเชื้อครับ ถ้าว่าจะเอายาไปกินกันก่อนได้มั๊ย มันก็ไม่ได้หรอก ด้วยเหตุผลที่ผมเล่าก่อนหน้านี้ครับ ว่ากลายเป็นเราเอาดาบไปใช้ก่อนข้าศึกบุกมา ดาบทู่ ก็ใช้ปราบเชื้อเมื่อถึงเวลาไม่ได้หรอก” 😎😎😎
โชคดีที่ระบบโปรแกรมร้านขายยา arincare.com มีระบบ SMS ที่สามารถยิงข้อความจากหน้าร้านเข้าสู่เบอร์มือถือที่คนไข้ให้ไว้ได้ทันที ทำให้ผมสามารถทำการส่งข้อความนัดหมายเพื่อติดตามอาการในอีกหนึ่งสัปดาห์ล่วงหน้าได้ เป็นเครื่องมือช่วยติดตามคนไข้ที่สะดวกไม่น้อยเหมือนกัน
“อะ … ตามนั้น
นี่ตั้งใจจะเข้ามาซื้อห้าหกตัว … เดินกลับออกไปจากร้านแค่สองตัวเอง แต่ได้ใบสั่งเป็นวิธีปฎิบัติตัวกลับไปเยอะเลย”
====================
ดูเหมือนการให้บริการพี่วันดีในวันนั้น ผมสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างความเชื่อใหม่ของการใช้ยาฆ่าเชื้อให้แกได้ แต่อาจจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเชิงยอดขายสำหรับเคสนี้เท่าไหร่นักซึ่งอาจใช่ถ้ามองแค่การบริการครั้งเดียว
แต่หลังจากพี่วันดีเดินออกไปจากร้าน แกก็กลับมาซื้อสินค้าในร้านอื่นๆ เพิ่มเติมกลับไปอีก อาทิ ฟ้าทะลายโจรสกัดแบบแคปซูลกล่องใหญ่ไป ซื้อ Mask แพ๊คโหล เพื่อป้องกันหวัดส่วนตัวไม่ให้ไปติดคนอื่น รวมทั้งยาอมสมุนไพรเพื่อความชุ่มคอเพิ่มเติมไปอีก (แกอาจจะกังวลว่าเภสัชฯ ไม่มีเงินกินข้าวก็ได้ ยืนอธิบายแกคนเดียวก็หลายนาทีแล้ว)
ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ พี่วันดีดูแลตัวเองดีมาก ไม่มีอาการเจ็บคอเพิ่มเติม กลับมาให้ดูตัวครั้งนี้เภสัชกรได้ขนมทองหยอดมาช่วยเพิ่มความหวานให้ลิ้นและจิตใจอีก … ดูแล้ว ไม่แน่ใจว่าความสัมพันธ์ดีๆ แบบนี้จะต้องใช้เงินลงทุนสักเท่าไหร่เพื่อให้ได้มานะครับ ถ้าไม่ใช่ซื้อด้วยใจและความปรารถนาดีอยากให้คนไข้ใช้ยาได้เหมาะสมและถูกวิธี
เภสัชกรวิรุณ เวชศิริ
เอกสารอ้างอิง
- เภสัชกร วสุ ศุภรัตนสิทธิ ,บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน : รับมือโรคหวัดอย่างไร ให้เหมาะสม, http://bit.ly/2xri39l
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. โครงการ Antibiotic Smart Use ปีที่ 2
- ภญ.ภัทราภา ขุนศักดิ์โยดม, เอกสารประกอบการบรรยาย, Cross hypersensitivity
of NSAIDs, http://bit.ly/2RSPDyL