โรคอุจจาระร่วง อย่ามองข้าม อาจอันตรายถึงชีวิต!
ช่วงนี้หน้าฝนแล้ว หนึ่งในโรคสุดฮิตที่มากับฝนนั่นก็คือ “โรคอุจจาระร่วง” หรือท้องเสีย นั่นเอง ซึ่งโรคนี้ก็คือภาวะการถ่ายอุจจาระเหลวติดต่อกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หลายๆ คนอาจจะละเลยเพราะคิดว่าอาการไม่ผิดปกติมาก แค่ท้องเสียธรรมดา แต่โรคนี้หากละเลยไม่ดูแลให้ดี อาจเกิดอาการแทรกซ้อนถึงชีวิตได้
สาเหตุของโรคอุจจาระร่วงนั้น ส่วนใหญ่มาจากการรับประทานอาหารและน้ำเป็นหลัก ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนของอาหารจากไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต โปรโตซัว จากอาหารปรุงไม่สุก ปรุงสุกแต่เก็บรักษาไม่ดี ไม่ล้างมือก่อนการเตรียมหรือปรุงอาหาร ภาชนะที่ใช้มีเชื้อโรค หรืออาจจะเป็นจากสาเหตุอื่นๆ เช่น อาหารบางอย่างที่ร่างกายไม่ย่อย เกิดจากการทานยาบางชนิด
อาการของโรคอุจจาระร่วง นอกจากการถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งใน 1 วันแล้วนั้น อาจมีอาการอื่นร่วม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ปวดท้อง อาจมีไข้อ่อนๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว หากเป็นติดต่อกันอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ จนทำให้ช็อก หมดสติ และถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
มีอาการอุจจาระร่วง ควรทำอย่างไร
1. ส่วนใหญ่แล้ว อาการอุจจาระร่วงมักเป็นชนิดที่อาการไม่รุนแรง ถ่ายประมาณ 5-6 ครั้งต่อวัน มักไม่มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ซึม หรือมีไข้ เช่นนี้อาการจะดีขึ้นเองภายใน 1-2 วัน ซึ่งในช่วงนี้แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่กินอาหารอ่อนย่อยง่าย ไม่ควรดื่มนม หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารมันๆ รวมทั้งกินยาตามอาการ ไม่ต้องใช้ยาต้านจุลชีพหรือพบแพทย์
ยาที่แนะนำ :
– ยากลุ่มดูดขับสารพิษ เช่น kaolin, pectin, ถ่าน activated charcoal
– ยากลุ่มลดการเคลื่อนไหลของลำไส้ เช่น loperamide (อีโมเดียม) เพื่อทำให้ถ่ายน้อยลง แต่ห้ามใช้ในรายที่มีอุจจาระเป็นมูกเลือด หรือมีไข้สูง ไม่ควรกินเกิน 1-2 เม็ดต่อวัน
– ยาลดอาการปวดมวนท้อง เช่น hyoscine (buscopan)
หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
2. หากมีอาการนานกว่า 2 วัน หรือ มีอาการขาดน้ำ กระหายน้ำ เพลีย หน้ามืด ปัสสาวะน้อย มีอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายเป็นมูกเลือด รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์