HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

โรคมือปากเท้าในเด็ก

February 15, 2021

โรคมือปากเท้าในเด็ก

โรคมือปากเท้าในเด็ก

โรคมือเท้าปากเป็นมากในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี แต่สามารถพบได้ในเด็กโตและวัยผู้ใหญ่ โดยที่อาการของโรคมือเท้าปากในเด็กที่โตกว่าหรือในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันได้ย่างไร?

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อจากการรับเชื้อโดยตรงทางปาก ซึ่งการรับเชื้อทางปาก  พูดง่ายๆก็คือ การที่เด็กมีเชื้ออยู่ที่มือแล้วนำของเล่น ของกินที่ถูกสัมผัสด้วยน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่มีจากผู้ที่มีเชื้อ เช่น การไอ จาม เป็นต้น หรือไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร กินน้ำกับผู้ที่มีเชื้ออยู่ก็สามารถติดต่อได้เช่นกัน

โรคนี้พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำอยู่ จึงติดเชื้อง่าย โดยเชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้ คือ เชื้อไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ที่เมื่อเด็กรับเชื้อเข้าไปแล้วจะแสดงอาการภายใน 3-7 วัน

 

อาการของโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็ก

หลังจากได้รับเชื้อภายใน 7 วัน เด็กจะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร มีน้ำมูก เจ็บคอ คลื่นไส้ หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่มพองเล็ก ๆ เป็นจุดนูนแดงที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ และตุ่มน้ำใสบริเวณภายในปาก และหลังจากเป็นตุ่มแดงตามร่างกายได้สักพัก ตุ่มแดง ๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำ

เด็กบางคนอาจจะคันหรือไม่คันก็ได้ แต่อาการของตุ่มแดง ๆ จะมาพร้อมมีไข้ แต่ไข้จะค่อย ๆ หายได้เองภายใน 3-4 วันส่วนแผลในปากก็จะหายได้เองเช่นกันภายใน 7 วัน และตุ่มตามมือและเท้าจะค่อย ๆ หายไปภายใน 10 วัน

สำหรับที่มีอาการรุนแรง อาจจะมีอาการปวดหัวมาก ชัก แขนขาอ่อนแรง หายใจหอบ ซึมและอาจจะอาเจียนรุนแรงก็ได้ หากเด็กมีอายุน้อยกว่า 3 ปีหรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เมื่อเรารู้ถึงอันตรายของโรคมือ เท้า ปากแล้ว หากสังเกตเห็นว่ามีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์

สัญญานเตือนของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

  • เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากทานอาหารหรือน้ำ
  • บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว
  • มีอาการพูดเพ้อ ไม่รู้เรื่อง สลับกับซึมลง หรือเห็นภาพแปลก ๆ
  • มีอาการสะดุ้ง ผวา ตัวสั่น ๆ แขนหรือมือสั่น
  • มีอาการไอ หายใจเร็ว หน้าซีด เสมหะมาก

 

การดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นโรค มือ เท้า ปาก

  • ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีไข้สูง ไม่สบายตัว เจ็บแผลในปาก ทานอาหารลดลง อาจให้ทานยาชาบริเวณช่องปากก่อนทานอาหาร เน้นอาหารเหลว เน้นทานน้ำมาก ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดน้ำ
  • ควรให้ลูกหยุดเรียน เพื่อดูอาการของลูก และลดโอกาสการกระจายเชื้อไปยังผู้อื่น
  • โดยปกติ โรคมือ เท้า ปาก ถ้าอาการไม่รุนแรง จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้ากรณีที่ซึมมาก อาเจียนมาก ควรรีบไปพบแพทย์

 

ข้อสังเกตโรคมือ เท้า ปาก

ในระยะเริ่มต้น โรคมือ เท้า ปาก จะมีอาการใกล้เคียงเหมือนเป็นไข้หวัดปกติ คือมีอาการเจ็บคอ ปวดหัว อ่อนเพลีย มีน้ำมูก แต่หลังจากนั้นไม่นาน จะมีตุ่มน้ำขึ้นตามตัวเด็ก จึงสามารถบอกได้แล้วว่าไม่ใช่อาการไข้หวัดธรรมดาแน่นอน

แต่จะแตกต่างจากโรคอีสุกอีใส ตรงที่ อาการตุ่มน้ำใสตามตัวเด็กที่เป็นของโรคอีสุกอีใสจะกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว แขนขา และอาจจะมีในปากด้วยเช่นกัน แต่สำหรับโรคมือ เท้า ปากแล้ว ตุ่มน้ำที่ขึ้นมาจะแสดงเฉพาะที่อย่าง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และภายในปากเท่านั้น

ดังนั้น การรักษาสุขอนามัยและสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่นั้นเป็นการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้ดีที่สุด โดยพ่อแม่สามารถหมั่นทำความสะอาดและดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคมากขึ้น