ทำความรู้จัก ยาคุมกำเนิด
ปัจจุบัน มีวิธีคุมกำเนิดหลายวิธี ตามความสะดวกของแต่ละบุคคล แต่หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมจากมากที่สุด คือ การคุมกำเนิดโดยการกินยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิด ก็ยังสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทอีกด้วย วันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจ การทำงาน และประเภทของยาคุมกำเนิดกัน
การทานยาคุมกำเนิด คือการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ซึ่งโดยหลักการทำงานของยาคุมกำเนิดจะส่งผลให้
- ไข่ไม่ตก
- ท่อนำไข่เคลื่อนไหวผิดปกติ ส่งผลให้ไข่ที่ถูกอสุจิผสมแล้วไม่สามารถเดินทางมาฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้
- เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน
- มูกที่ปากมดลูกข้น เหนียว จนทำให้อสุจิไม่สามารถผ่านเข้ามาได้
ยาเม็ดคุมกำเนิด สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่นหลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน เกิดการรั่วของถุงยางอนามัย หรือห่วงอนามัยหลุด เป็นต้น ควรรับประทานให้เร็วที่สุดหลังการมีเพศสัมพันธ์และไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง เนื่องจาก ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่รับประทานยา
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรายเดือน
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องคุมกำเนิดเป็นประจำ หรือต้องการคุมให้รอบเดือนมาปกติ บางยี่ห้อจะช่วยเรื่องผิวพรรณ และลดสิว ซึ่งหลักๆ แล้วสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.1 ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
ประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ตัว คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสโตรเจน ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการตกไข่แล้ว ฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนบางรูปแบบยังช่วยลดอาการบวมที่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และยังช่วยลดสิวได้อีกด้วย
สาวๆที่อยากหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เลือดประจำเดือนมามาก และอาการบวมน้ำ ควรเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ แต่หากมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยแสดงว่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำเกินไปให้เลือกยาคุมที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น
2.2 ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเดี่ยว
เหมาะสำหรับคนที่แพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมถึงคุณแม่ที่ต้องให้นมบุตร เนื่องจากไม่มีผลต่อปริมาณ และคุณภาพของน้ำนม แต่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะไม่ดีเท่าแบบแรก
รู้สึกไม่สบาย? เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องการยา? Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพ เเละจัดหาตัวแทนไปรับยาร้านขายยยามาตรฐานเพื่อนำไปส่งให้ที่บ้านของคุณได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้กังวล
เริ่มการปรึกษาได้ที่ >> https://bit.ly/medcareapp