HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

อันตรายจากการแพ้ยา

October 12, 2020

อันตรายจากการแพ้ยา

อันตรายจากการแพ้ยา

การแพ้ยา คือการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราต่อต้านตัวยาที่รับเข้าไป แล้วแสดงออกมาเป็นอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง หน้าบวม ตาบวม หรือแน่นหน้าอกหายใจติดขัด ซึ่งอาการเหล่านี้มีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต

ยาชนิดไหนมักทำให้เกิดการแพ้

  • ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยากลุ่มเพนนิซิลลิน (Penicillin) เช่น Penicillin V, Amoxicillin
  • และยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เช่น Sulfasalazine, Glipizide, Glibenclamide, Celecoxib
  • ยาแอสไพริน และยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Mefenamic
  • ยากันชัก เช่น Phenytoin, Carbamazepine และ Phenobarbital
  • ยาเคมีบำบัด ยารักษาโรคเกาต์ และยารักษาวัณโรค

อย่างไรก็ตาม การแพ้ยานั้นเป็นภาวะเฉพาะบุคคล เนื่องจากภูมิคุ้มกันร่างกายแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกันไป ยาชนิดเดียวกันที่บางคนใช้ได้เป็นปกติ จึงอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในคนไข้บางคนได้เช่นกัน ในบางกรณีอาจพบการแพ้ยาข้ามกลุ่มได้ ดังนั้นควรแจ้งประวัติแพ้ยาแก่เภสัชกรทุกครั้งก่อนได้รับยา หรือปรึกษาเภสัชกรเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มยาที่อาจทำให้เกิดการแพ้ข้าม

อาการแพ้ยาเป็นอย่างไร?

อาการแพ้ยาที่พบได้บ่อย ซึ่งผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับยาภายใน 1 – 6 ชั่วโมง ได้แก่

  • มีผื่นแดงคันหรือผื่นลมพิษขึ้นที่ผิวหนัง
  • ตาและริมฝีปากบวม
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ

ในรายที่มีการแพ้ยารุนแรง อาจแสดงอาการอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับยาภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง เช่น

  • แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจติดขัด
  • ตัวเย็น หน้ามืด ชีพจรเบา ความดันต่ำ
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว
  • เกิดอาการช็อกจากการใช้ยา (Anaphylactic shock)
  • เกิดผื่นพุพองที่ผิวหนัง และเยื่อบุลอกเปื่อยทั่วร่างกาย เช่น ภายในปาก ตา หลอดลม ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และรูทวาร ซึ่งเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Stevens Johnson Syndrome

โดยอาการแพ้ยารุนแรงเหล่านี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์โดยด่วนที่สุด

หากแพ้ยาควรทำอย่างไร?

หากคุณหรือคนใกล้ตัวเกิดอาการแพ้ยาดังที่กล่าวมา ให้หยุดใช้ยาที่สงสัยว่าก่อให้เกิดการแพ้ทันที แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อป้องกันภาวะที่อาจรุนแรงถึงชีวิต โดยคนไข้ควรนำยาที่แพ้ติดมาให้แพทย์พิจารณาด้วย และให้หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้แพ้ทานเองในทุกกรณี

เมื่อแพทย์และเภสัชกรพิจารณาการแพ้ยาแล้วจะออกเป็นบัตรแพ้ยาให้เพื่อระบุกลุ่มยาที่แพ้ หรือในรายที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าตนเองแพ้ยาชนิดใดบ้าง ก็ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนั้น และให้แจ้งประวัติการแพ้หรือแสดงบัตรแพ้ยาทุกครั้งก่อนรับการรักษาใดๆ ก็ตาม


รู้สึกไม่สบาย? เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องการยา? Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพ เเละจัดหาตัวแทนไปรับยาร้านขายยยามาตรฐานเพื่อนำไปส่งให้ที่บ้านของคุณได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้กังวล

เริ่มการปรึกษาได้ที่ >> https://bit.ly/medcareapp