HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

เจ็บคอ อันตรายไหม

March 26, 2021

เจ็บคอ อันตรายไหม

เจ็บคอ อันตรายไหม

อาการเจ็บคอ (Sore Throat) คืออาการที่เจ็บ แสบ หรือระคายเคืองในบริเวณลำคอ ขึ้นเวลากลืนหรือพูด เนื่องจากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อลำคอ เช่น ผนังช่องคอ ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน โคนลิ้น กล่องเสียง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แต่บ่อยครั้งเกิดจากการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

อาการเจ็บคอ อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น กลืนลำบาก คอแห้ง เสียงแหบ หรือหากมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาจมีไข้ ไอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดร้าวไปหู มีน้ำมูกใสๆ คัดจมูก จาม เสมหะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

 

สาเหตุหลักของอาการเจ็บคอ มี 2 ประเภท ดังนี้

1.การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบได้บ่อยทั้งจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมักจะมีอาการเจ็บคอโดยเฉพาะเวลากลืน คอแดงเล็กน้อย ไม่มีจุดขาวที่ทอนซิล มีเสมหะ น้ำมูกใสไม่มีสีเขียว-เหลือง ส่วนใหญ่มักมีอาการหวัดมาก่อนแล้วจึงเจ็บคอภายหลัง

ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ โรคคออักเสบจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บคอต่อเนื่องหลายวัน คอแดงจัด มีจุดขาวที่ทอนซิล มีไข้ มีเสมหะหรือน้ำมูกสีเขียว-เหลือง เสียงพูดเปลี่ยนไป กลืนลำบาก

2.การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคกรดไหลย้อน การใช้เสียงมากเกินไป โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ การสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ควัน ฝุ่น อากาศแห้ง สารเคมี การรับประทานบางอย่าง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารเผ็ดมากเกินไป หรือมีก้อนเนื้องอกที่ลำคอ หรือกล่องเสียง เป็นต้น

 

การรักษาอาการเจ็บคอ

วิธีรักษาอาการเจ็บคออาจแบ่งตามสาเหตุที่พบ ดังนี้

อาการเจ็บคอจากเชื้อไวรัส

อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างโรคหวัด มักจะหายไปเองภายใน 5-7 วันโดยไม่ต้องใช้ยา สามารถบรรเทาอาการเจ็บคอด้วยการกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ดื่มน้ำอุ่น อมเกล็ดน้ำแข็ง หรือรับประทานยาเพื่อลดอาการเจ็บและมีไข้ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดลดอักเสบอื่น ๆ

อาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย

อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะมีอาการ เช่น มีไข้สูง ไม่มีอาการไอร่วม  ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้ขากรรไกรบวมโต มีฝ้าขาวหรือมีจุดหนองในลำคอ หากมีอาการดังกล่าวมากกว่า 2 อาการ จะถือว่าเป็นอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

เปรียบเทียบลำคอที่ติดเชื้อไวรัสกับติดเชื้อแบคทีเรีย
ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้ขากรรไกรบวมโต

หากพบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ เช่น ยากลุ่มเพนิซิลิน (Penicillin) หรืออะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ซึ่งอาการมักดีขึ้นได้ภายใน 1-2 วัน และควรรับประทานยาตามระยะเวลาที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนดแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม การหยุดยาก่อนกำหนดอาจทำให้ไม่หายดีและมีอาการอีกครั้งได้ และมีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาได้

กรณีที่ผู้ป่วยที่จะใช้ยาสมุนไพรใด ๆ ในรักษาร่วมด้วยนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะยาสมุนไพรอาจเกิดปฏิกิริยาต่อยาปฏิชีวนะ และเป็นอันตรายต่อเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

อาการเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

การรักษาอาการเจ็บคอเนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ ควรรักษาตามสาเหตุ เช่นเจ็บคอจากภูมิแพ้ ควรเลี่ยงสารที่อาจก่อทำให้แพ้หรือสารก่อความระคายเคืองทั้งหลาย และใช้ยาต้านฮีสทามีนเพื่อบรรเทาอาการแพ้

ส่วนอาการเจ็บคอจากโรคกรดไหลย้อน สามารถรักษาที่โรคต้นเหตุโดยรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรด อาการเจ็บคอที่เกิดจากเนื้องอกบริเวณลำคอหรือกล่องเสียงควรรักษาด้วยการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด เป็นต้น

อาการเจ็บคอทั้งชนิดไม่ติดเชื้อ อาจทำให้รู้สึกระคายคอและไอ ในเบื้องต้น อาจบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาอมแก้เจ็บคอและยาน้ำแก้ไอ เพราะจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ บรรเทาอาการไอ ลดการระคายเคือง แต่ควรเลือกซื้อชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ เพราะยานี้จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เชื้อดื้อยา ส่งผลให้รักษาได้ยากขึ้นและหายช้าลง


รู้สึกไม่สบาย? เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องการยา? Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพ เเละจัดหาตัวแทนไปรับยาร้านขายยยามาตรฐานเพื่อนำไปส่งให้ที่บ้านของคุณได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้กังวล

เริ่มการปรึกษาได้ที่ >> https://bit.ly/medcareapp