HEALTHCARE

เมื่อ “ร้านยา” เป็นมากกว่า “ร้านค้า” ความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการร้านยา

April 22, 2019

เมื่อ “ร้านยา” เป็นมากกว่า “ร้านค้า” ความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการร้านยา

“9 เมษายน 2562” กลายเป็นวันสำคัญที่วงการเภสัชกรรม และวงการเภสัชกรร้านขายยาต้องจดจำเป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะได้มีประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้ “ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545”

มีหลายคนถามว่า แล้วประกาศชิ้นนี้จะมีผลอย่างไรต่อร้านยา? คำตอบมีดังนี้ครับ

ประการแรก “ร้านยามีสิทธิขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการสุขภาพตามระบบหลักประกันสุขภาพได้”   ซึ่งตอบแบบนี้ก็อาจจะยังงงอีก เปรียบเทียบให้อ่านตามนี้ครับ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย จะประกอบไปด้วยกองทุนสุขภาพหลัก 3 กองทุน คือ

  1. กองทุนบัตรทอง (หรือ เรียกว่า 30 บาท บริหารโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ : สปสช. ครอบคุลมประชาชน 48 ล้านคน)
  2. กองทุนประกันสังคม (ครอบคลุมลูกจ้าง และผู้ต้องการประกันตน ประมาณ 11 ล้านคน)
  3. สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (ครอบคลุม ข้าราชการและผู้มีสิทธิ ประมาณ 5 ล้านคน)

กองทุนทั้งสามกองครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพส่วนใหญ่ของประเทศ ก็จะถูกจ่ายผ่านกองทุนสุขภาพข้างต้น  โดยถ้าประชาชนไม่ต้องการใช้สิทธิ หรือ เลือกที่จะใช้บริการผ่านโรงพยาบาลเอกชน หรือ ร้านขายยา ก็มักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ประชาชนนั้นๆ จ่ายเงินเอง (หรือเรียกว่า OOP : Out of Pocket Payment)

ดังนั้นที่ผ่านมา ไม่ว่าร้านยาจะปรับเพิ่มบริการที่ดีใดๆ ในร้าน ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเก็บเพิ่มเติมจากกองทุนสุขภาพหลักได้ ด้วยเหตุผลว่า ที่ผ่านมา ร้านยาไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “หน่วยบริการสุขภาพ”  ถูกมองเป็นเพียง “ร้านค้า” ซึ่งขายยาเท่านั้น ทั้งๆ ที่เภสัชกรร้านยาเองสามารถให้บริการด้านสุขภาพได้อีกมาก

การเชื่อมต่อระหว่างร้านยากับกองทุนบัตรทองของ สปสช. จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการเชื่อมต่อกับกองทุนอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อ “ร้านยา” เป็นมากกว่า “ร้านค้า” จึงมีผลให้บริการด้านสุขภาพดีๆ อีกหลายอย่างสามารถเริ่มต้นได้ เช่น

  • การให้บริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
  • การให้ความรู้สุขภาพ คำแนะนำการใช้ยา
  • การเยี่ยมติดตามผู้ป่วยที่บ้าน
  • การรับยาต่อเนื่องที่ร้านยา
  • การรับยาคุมกำเนิด
  • คลินิกอดบุหรี่
  • อื่นๆ

ซึ่งบริการเหล่านี้ ร้านยาสามารถให้บริการแล้วทำเบิกจาก สปสช. ได้ โดยในปี 2562 นี้ โครงการได้เริ่มใน 11 เขต กทม. ซึ่ง กทม. เป็นพื้นที่ พิเศษ จึง ออกแบบการจ่ายเงินกองทุนได้เอง จึงสามารถทำโครงการริเริ่มได้ก่อน

ในขณะที่ต่างจังหวัด ระบบการจ่ายเป็นเหมาจ่าย ซึ่งอยู่ภายใต้โรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อไปจัดทำข้อเสนอกนออกแบบการจ่าย เพื่อแบ่งเงินเหมาจ่าย ออกมาจากโรงพยาบาล

ยกตัวอย่างเช่น กรณีให้ผู้ป่วยไปรับยาต่อเนื่องที่ร้านยา หรือ refill ซึ่งบริการส่วนนี้จะเป็นงานให้บริการผู้ป่วยนอก โดยปกติ งบของ สปสช. จะจ่ายเป็นค่าบริการรายหัวให้กับโรงพยาบาล ซึ่งถ้าโรงพยาบาลต้องการให้ร้านยาเข้าร่วม ก็สามารถเอางบส่วนนี้มาบริหารจัดการจ่ายให้กับร้านยาได้

ประการต่อมา ประกาศฉบับนี้ไม่ได้เพียงอำนวยความสะดวกเรื่องระบบการเบิกจ่ายงบประมาณสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยสร้างมุมมองที่สำคัญต่อร้านยา  ว่าเป็นหมุดหลักในการให้บริการสุขภาพที่มากกว่าการขาย และวิชาชีพเภสัชกรรมชุมชน คือ ที่พึ่งด้านสุขภาพแก่ประชาชนในชุมชนได้อย่างแท้จริง

 

รายละเอียดของโครงการต่อยอดจากประกาศฯ ฉบับนี้ : โครงการการขึ้นทะเบียนร้านยาเป็นหน่วยร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พื้นที่ กทม. (ซึ่งหากสนใจสมัคร สามารถเข้าไปตาม link นี้ได้เลยครับ https://bkk.nhso.go.th/main/shownews.php?newsid=4468)

บทความโดย เภสัชกรวิรุณ  เวชศิริ