HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

“ไอ” กินยาอะไรถึงหาย ?

November 2, 2018

“ไอ” กินยาอะไรถึงหาย ?

อาการไอ เป็นอาการทางธรรมชาติของร่างกายในการขับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน อากาศแห้ง สารระคายเคือง เกสรดอกไม้ หรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน เป็นต้น อาการไอ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ อาการไอเฉียบพลัน และ อาการไอเรื้อรัง (มีอาการต่อเนื่องนานกว่า 3 – 8 สัปดาห์) ซึ่งอาจเกิดจากโรคที่ร้ายแรง หรือมีพยาธิสภาพในทางเดินหายใจ เช่น มีเนื้องอก ปอดอักเสบ เป็นต้น

แม้อาการไอจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้าหากเราไอต่อเนื่องนานๆ หนักๆ ก็รบกวนชีวิตประจำวันไม่น้อยเลยทีเดียว และยิ่งหากมีอาการหนักมาก ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

เราจะทานยาแก้ไออย่างไรให้เหมาะสมกับอาการ?

อาการไอแบบมีเสมหะ

หากมีอาการไอประเภทนี้ จะมียาที่สามารถบรรเทาอาการได้อยู่ 2 ประเภท คือ

1. ยาบรรเทาอาการไอชนิด ขับเสมหะ — ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองกระเพาะ เพิ่มการสร้างสารหลั่ง ทำให้เสมหะมีความหนืดน้อยลง จึงขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ในระยะแรกที่ใช้ยา ผู้ป่วยจะมีเสมหะมากขึ้น และไอมากขึ้น เพื่อให้ขับเสมหะได้ จนกว่าจะขับหมด อาการจะบรรเทาลง

  • ยกตัวอย่างยาประเภทนี้ เช่น Guaifenesin, senega, ammonia, ammonium chloride, ipecacuanh ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายกระเพาะ ได้

2. ยาบรรเทาอาการไอชนิด ละลายเสมหะ— ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ทำลายโครงสร้างเสมหะที่ข้นเหนียว ทำให้ความหนืดลดลง ทำให้ขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น

  • ยาประเภทนี้ เช่น acetylcysteine, carbocisteine,erdosteine, bromhexine เป็นต้น หากทานยาในกลุ่มนี้แล้วมีอุจจาระสีดำ ให้หยุดใช้และปรึกษาแพทย์

อาการไอแบบไม่มีเสมหะ

หากมีอาการไอแห้ง ไอแบบไม่มีเสมหะ ให้ทานยาประเภทออกฤทธิ์ยับยั้งการไอ ซึ่งเป็นยากดศูนย์การไอที่สมอง หากใช้เกินขนาด อาจไปกดการหายใจ เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ตัวอย่างยาในประเภทนี้ ได้แก่ dextromethorphan ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม สั่น ปวดศีรษะ กระวนกระวาย และยาบางชนิดในกลุ่มนี้ เช่น codeine และ hydrocodone หากมีการใช้ติดต่อไปนานๆ อาจทำให้เสพติดได้

ยาแก้ไอทุกชนิดไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และไม่ควรหายามาทานโดยพลการ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ โดยเฉพาะยาแก้ไอที่แก้อาการไอแบบไม่มีเสมหะ