FEATURED การบริหารร้านขายยา

เทคโนโลยีสุขภาพในยุค 4.0 (ตอนที่ 3)

February 25, 2019

เทคโนโลยีสุขภาพในยุค 4.0 (ตอนที่ 3)

ตอนที่ 3 บริการทางการแพทย์ระยะไกล (Telemedicine)

ในยุคที่ความเร็วในการสื่อสารไม่เป็นปัญหาเช่นสมัยก่อน ส่งผลให้การรักษาพยาบาลสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ทำให้สามารถเกิดระบบการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพที่เรียกว่า TeleHealth หรือ Telemedicine (โทรเวชกรรม/การแพทย์ทางไกล)

โดยแนวคิดการให้บริการในลักษณะนี้ได้เริ่มต้นที่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีบริษัทผู้ให้บริการรายใหญ่ที่ชื่อ Teladoc โดยมีบริการที่เริ่มจากรับสายโทรศัพท์ให้คำปรึกษา จนปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยี Video Call หรือ การพูดคุยแบบเห็นหน้าค่าตาแบบเวลาจริง (real time) ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์ ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรับบริการได้ค่อนข้างมาก ส่วนในอังกฤษจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่ที่ชื่อ Babylon Health ซึ่งได้นำระบบ A.I. มาช่วยในการซักถามคัดกรองโรคของคนไข้ก่อนเบื้องต้น หากเป็นโรคที่ไม่เร่งด่วนฉุกเฉิน ก็สามารถเข้าพูดคุยกับแพทย์แบบ Video Call ได้

ในต่างประเทศ TeleHealth มีการเติบโตที่ค่อนข้างสูงมาก เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการด้านการแพทย์ได้จริง สร้างความสะดวกในการเข้าถึงแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้จริง รวมทั้งยังสามารถสร้างการเชื่อมต่อไปสู่บริการทางการแพทย์อื่นๆ ได้อีกมาก ทั้งบริษัทประกันสุขภาพโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกายังให้การรับรองการเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการนี้ ทำให้ TeleHealth หรือ Telemedicine ได้รับความนิยมไม่น้อยเลย

ผู้ให้บริการ TeleHealth ในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการ TeleHealth หลักๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ See Doctor Now, Chiiwii live, OOCA, Raksa ซึ่งจะว่าไปแล้ว บริการด้าน TeleHealth ในประเทศไทยดูจะเป็นบริการด้านการแพทย์ผ่านสื่อดิจิทัลที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด เพราะมีผู้เล่นในตลาดหลายราย ผนวกกับเป็นบริการใหม่ ซึ่งหากออกแบบได้ดีๆ ก็จะสามารถช่วยให้ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลไม่ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งมีข้อมูลอยู่ว่า คนไข้กว่าร้อยละ 70 ไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น การนำ telemedicine มาใช้จึงสามารถช่วยประหยัดทรัพยากรของโรงพยาบาลในภาพรวมได้ นอกจากนั้นยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางได้ง่ายขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน นอกจากบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แล้ว ยังมีบริการอื่นๆ เช่น การส่งนักกายภาพบำบัดเข้าไปถึงที่ หรือ ส่งนักเทคนิคการแพทย์เข้าไปเจาะเลือดได้ถึงที่

ผู้ให้บริการด้าน telemedicine รายสำคัญๆ มีดังต่อไปนี้

  • See Doctor Now : ระบบ Telemedicine สำหรับปรึกษาแพทย์ผ่านหน้าจอมือถือ

website: www.seedoctornow.com

See Doctor Now เปิดให้บริการจนถึงบัดนี้มาประมาณสองปีกว่า โดยเป็นผู้ให้บริการทางด้านโทรเวชกรรม หรือ การแพทย์ทางไกลรายแรกๆ ที่เปิดให้บริการในประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบมองเห็นภาพ หมอและคนไข้จะสามารถพูดจาแบบเห็นหน้ากันได้ โดยเริ่มต้นจากการที่คนไข้กด application ซึ่งจะต่อสายตรงไปยังพยาบาลเพื่อที่จะทำการ screening หรือ ซักประวัติเบื้องต้นเพื่อคัดกรองคนไข้ที่เหมาะสมต่อการใช้บริการ หากคนไข้จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลแบบฉุกเฉิน ทีมก็จะประสานงานกับหน่วยงานรัฐหรือโรงพยาบาลที่ใกล้คนไข้มากที่สุดเพื่อดำเนินการได้

ในระยะแรกๆ ทีมงานได้เปิดให้บริการให้คำปรึกษาทั้งโรคทางกายและโรคทางใจแก่คนทั่วไป ซึ่งต่อมาได้ขยายไปให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรและกลุ่มบริษัทประกันชีวิตและเป็นแนวทางที่บริษัท telemedicine หลายรายดำเนินการอยู่ในขณะนี้

  • Chiiwii : ระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล สำหรับผู้หญิงโดยตรงผ่านหน้าจอมือถือ

website : https://chiiwiilive.com/

Chiiwii Live เป็น application ด้าน Telemedicine เช่นเดียวกัน โดยเริ่มสามารถสร้างความแตกต่างโดยมีการใช้แพทย์เฉพาะทางเพื่อผู้หญิง ช่วยดูแลโรคผู้หญิง ทำให้สามารถจับกับกลุ่มเป้าหมายได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งหลังจากนั้น ก็ได้มีการขยายผู้เชี่ยวชาญออกไปอีกหลายด้าน แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยอดบุหรี่ หรือ เภสัชกรก็มีให้บริการ

จุดเริ่มต้นของ Chiiwii live คุณหมอผู้ก่อตั้งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ได้ร่วมกับเพื่อนๆ ให้คำปรึกษาโรคเพราะพบว่าในปัจจุบันมีข้อมูลด้านการแพทย์ที่ผิดอยู่เป็นจำนวนมากบนอินเตอร์เน็ต จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง application เพื่อช่วยเป็นช่องทางให้คำปรึกษาด้านการแพทย์เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องของประชาชนได้

  • Ooca : App สำหรับใช้ปรึกษาปัญหาใจกับนักจิตวิทยาคลินิกผ่านระบบ Telemedicine

website: https://www.ooca.co/

OOCA หรือ อูก้า เป็นผู้ให้บริการ Telemedicine อีกรายที่มี positioning ชัด โดยเน้นการให้บริการโรคหรือความเจ็บป่วยทางใจเป็นหลัก ค่าบริการแตกต่างไปตามความเชี่ยวชาญของผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งบางบริการก็ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับการไปรับบริการจริงที่สถานพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าองค์กร ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพราะโรคทางใจสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ การรับคำปรึกษาแบบ telemedicine หรือ video call จะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวในการขอคำปรึกษาด้วย

  • Health at Home : หาผู้ดูแลผู้ป่วยไปดูแลให้ถึงที่บ้าน

Health at Home เป็นบริการจัดหา care giver หรือ ผู้ดูแลผู้ป่วยไปที่บ้าน ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวที่บ้านได้ สอดคล้องไปกับแนวโน้มของสังคมสูงวัยของประเทศไทยที่ผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้น เราอยู่กันด้วยอายุเฉลี่ยที่นานขึ้น แต่อาจเต็มไปด้วยภาวะโรคเรื้อรังซึ่งต้องการการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง Health at Home จะทำการส่งผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีทั้งพยาบาลและผู้ดูแลผู้ป่วยที่ผ่านการอบรมอย่างดีให้บริการ

  • Vitaboost :

website: http://www.vitaboost.me/

ดูแลระดับวิตามินและเกลือแร่ของคนไข้ โดยส่งพยาบาลไปเจาะเลือดที่บ้าน จากนั้นจะผสมวิตามินให้เหมาะสมกับระดับความต้องการแล้วส่งตรงถึงบ้าน

ภก.วิรุณ เวชศิริ
Chief Pharmacist
Arincare