ยาแก้ปวดมีกี่ชนิด อะไรบ้าง ใช้อย่างไรให้เหมาะสม?
ยาแก้ปวด นับเป็นยาสามัญประจำบ้านที่เรียกได้ว่า แทบทุกบ้านต้องมีติดไว้ เพราะสามารถออกฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดได้หลากหลายและรวดเร็ว แต่รู้หรือไม่ว่า ยาประเภทระงับความปวด (Painkiller/Analgesic) มีแบ่งได้ถึง 4 กลุ่มง่ายๆ ทั้งแบบที่เป็นสามัญประจำบ้าน และแบบที่แพทย์ต้องสั่งจ่าย
1. กลุ่มพาราเซตามอล และแอสไพริน
- กลุ่มยาพาราเซตามอล (อะเซตามิโนเฟน) ระงับอาการปวดโดยการขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนกรดอะราคิโนติก เป็น โพรสตาแกลนดิน ซึ่งส่งผลให้ อาการปวด ไข้ และบวม ลดลง เป็นยาที่ปลอดภัย ใช้ระงับอาการปวดอ่อนๆ ได้ดี แต่หากใช้เกินขนาด หรือต่อเนื่องนานเกินไป ก็เป็นผลต่อตับและไตได้
- กลุ่มยาแอสไพริน (กรดอะเซติกซาลิซิลิก) ระงับอาการปวดด้วยกระบวนการเดียวกันกับพาราเซตามอล แต่ออกฤทธิ์ดีกว่าต่ออาการบวม มีผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่า เช่น เลือดออกในระบบย่อยอาหาร และมีรายงานกลุ่มที่แพ้ยาประเภทนี้มากกว่า
2. ยาแก้อักเสลชนิดไม่มีสเตียรอยด์ NSAID (Non-Sterodical Anti-Inflammatory Drugs)
ยากลุ่มนี้ระงับอาการปวดคล้ายกับพาราเซตามอล แต่ออกฤทธิ์มากกว่า ใช้ระงับอาการปวดระดับกลางถึงรุนแรง ยาในกลุ่มนี้ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ พอนสแตน (ponstan) และไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์กัดกระเพาะ ควรรับประทานหลังอาหารเท่านั้น
3. กลุ่ม COX–2 Inhibitor
ออกฤทธิ์ระงับอาการปวดคล้ายกลุ่ม NSAIDs แต่ผลข้างเคียงด้านเลือดออกในระบบย่อยอาหารน้อยกว่า มีข้อมูลว่าอาจก่อโรคหัวใจ ยาในกลุ่มประเภทนี้ เช่น ยาเซเลโคซิป
4. ยาแก้ปวดชนิดเสพติด
เป็นกลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่นและมอร์ฟีน ออกฤทธิ์กดประสาทสมองส่วนหน้าหรือซีรีบรัม มีประสิทธิภาพสูง แต่ยากลุ่มนี้ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ เพราะต้องระวังใกล้ชิดเรื่องปัญหาเรื่องการเสพติดและอาการดื้อยา ซึ่งค่อนข้างอันตราย
จะเห็นได้ว่า ยาแต่ละชนิดก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป หากมีอาการเจ็บปวดมากๆ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชเพื่อรับคำแนะนำและทานยาที่เหมาะสมจะดีที่สุดนะคะ ^^