HEALTHCARE ยาและสุขภาพ

ทำความรู้จักกับยาแก้แพ้

November 9, 2020

ทำความรู้จักกับยาแก้แพ้

ทำความรู้จักกับยาแก้แพ้

อาการแพ้ สามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อากาศ แพ้อาหาร แพ้ฝุ่นละอองหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โดยเมื่อได้รับสารก่ออาการแพ้แล้ว ร่างกายจะหลั่ง ฮิสตามีน (Histamine) ออกมา ซึ่งทำให้เราเกิดอาการหลอดลมตีบ คัดจมูก น้ำมูกไหล คลื่นไส้ ปวดท้อง หรือมีผื่นแดงคันขึ้นตามผิวหนัง เราจึงจำเป็นต้องได้รับ “ยาแก้แพ้” เพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้นั่นเอง

ยาแก้แพ้ คืออะไร?

ยาแก้แพ้ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) คือยาที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งฤทธิ์ของฮิสตามีน และทำให้อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม หรือผื่นคันอันเกิดจากการแพ้เบาลงได้

ยาแก้แพ้มีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่

ยากลุ่มที่ทำให้ง่วงซึม

ยากลุ่มนี้เป็นยาแก้แพ้แบบดั้งเดิม ที่จะออกฤทธิ์ต้านฮิสตามีนโดยตัวยาจะผ่านเข้าสู่สมองไปกดระบบประสาท ทำให้คนทานมีอาการง่วงซึมตามมาได้ ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ได้ดีแต่ฤทธิ์จะอยู่ได้ไม่นานนัก จึงอาจจำเป็นต้องทานซ้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอาการแพ้

ตัวอย่างตัวยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine), ไดเมนไฮดรีเนต (dimenhydrinate), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine)  และ คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine) หรือยาแก้แพ้เม็ดเหลืองที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง

 

ข้อควรระวังในการใช้

  • ยาแก้แพ้กลุ่มนี้ทำให้มีอาการง่วงซึมได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่ต้องขับรถ หรือควบคุมเครื่องจักร
  • ห้ามใช้ร่วมกับยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สตรีมีครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ ไม่ควรซื้อยาทานเอง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปริมาณมาก โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากโต และผู้ป่วยที่มีความดันในลูกตาสูง
  • อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ ได้ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง จมูกแห้ง ตาพร่า และปัสสาวะคั่ง

ยากลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม

ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์คล้ายยากลุ่มแรก แต่ตัวยาจะผ่านเข้าสู่สมองได้น้อยมาก จึงไม่ทำให้คนทานรู้สึกง่วงซึม แถมยังก่ออาการข้างเคียงน้อยกว่ายาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิมด้วย โดยตัวอย่างตัวยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ เฟโซเฟนาดีน (fexofenadine), เลโวเซทิริซีน (levocetirizine), ลอราทาดีน (loratadine) และ เซทิริซีน (cetirizine) เป็นต้น

 

ข้อควรระวังในการใช้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปริมาณสูงในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หรือมีคลื่นหัวใจผิดปกติ
  • การทานยากลุ่มนี้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อบางชนิด เช่น คีโตโคนาโซล (ketoconazole), อิริโทรมัยซิน(erythromycin) อาจส่งผลเพิ่มฤทธิ์ของยาได้ คนที่ใช้ยาชนิดอื่นอยู่แล้วจึงควรแจ้งแพทย์ก่อนรับประทาน
  • อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ วิงเวียน ท้องผูก และปากแห้งได้เช่นกัน

 

เห็นแล้วใช่ไหมว่ายาแก้แพ้แต่ละชนิดนั้นมีคุณสมบัติและข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันไป หากเราต้องการทานยาแก้แพ้ เราจึงต้องรู้สภาพร่างกายและข้อจำกัดของตัวเอง รวมถึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้งด้วย


รู้สึกไม่สบาย? เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องการยา? Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพ เเละจัดหาตัวแทนไปรับยาร้านขายยยามาตรฐานเพื่อนำไปส่งให้ที่บ้านของคุณได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้กังวล

เริ่มการปรึกษาได้ที่ >> https://bit.ly/medcareapp