ปวดหัวแบบไหน เรียกว่า ไมเกรน
ปวดหัวแบบไหน เรียกว่า ไมเกรน
ไมเกรน เป็นอาการปวดหัวที่พบบ่อยในกลุ่มคนทำงาน ที่ต้องเผชิญกับความเครียดอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นความเครียดสะสม
โดยปกติแล้ว อาการไมเกรนส่วนใหญ่มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว แต่ในความเป็นจริง อาการปวดหัวข้างเดียว หรือสองข้าง ก็เป็นลักษณะของไมเกรนเช่นกัน เนื่องจากมีจุดกำเนิดที่ทำให้ปวดหัว ส่งสัญญาณมายังระบบประสาท ไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติและหลอดเลือดในสมอง รวมถึงการส่งผ่านสัญญาณของเส้นประสาทมาทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่รับความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและหนังศีรษะ ทำให้บางครั้งอาจเริ่มต้นปวดหัวข้างใดข้างหนึ่ง และอาจจะกระจายไปยังศีรษะทั้งสองข้างได้ หรืออาจปวดสลับกัน
ปวดหัวทั่วไป ต่างจาก ปวดหัวไมเกรนอย่างไร
การปวดหัวทั่วไป หรือปวดหัวจากสาเหตุอื่น อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท หรือเกิดจากผลข้างเคียงจากโรคอื่น แต่การปวดหัวไมเกรนนั้น ผู้ป่วยมักมีประวัติจำเพาะ และมีความปกติดีของระบบประสาท ดังนั้น แพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้เพื่อตรวจวินิจฉัย แยกแยะอาการปวดหัวทั้งสองออกจากกัน รวมทั้งตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อหาว่าระบบประสาทมีความผิดปกติหรือไม่
นอกจากอาการปวดหัวแล้ว การปวดไมเกรนนั้น หากมีอาการอื่นเช่น การมองเห็นผิดปกติ เห็นแสงเป็นเส้นซิกแซก คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดหัวมากจนต้องใช้ยาแก้ปวดหลายชนิด จัดว่าเป็นระดับรุนแรง แพทย์อาจนิจฉัยให้ฉีดยาแก้ปวดชั่วคราวและรับยาป้องกันอาการจากแพทย์
การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน
ยาที่สามารถบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน อาทิ พาราเซตามอล กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) และ ยาต้านไมเกรน (ergotamine) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การทานยาบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน (ergotamine) ให้ได้ผลนั้น ควรทานเมื่อเริ่มมีอาการ ครั้งละ 1-2 เม็ด ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 6 เม็ดใน 1 วัน และไม่ควรกินเกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์ การรับประทานยาเกินขนาดหรือรับประทานร่วมกับยาบางชนิด อาจทำให้เกิดภาวะ ergotism ซึ่งเป็นภาวะความเป็นพิษจาก ergotamine โดยจะมีอาการ ท้องเสีย เนื้อเยื้อขาดเลือด ชัก เป็นต้น ดังนั้นควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเริ่มการรักษาด้วยยา ergotamine
ปวดหัวไมเกรนและการรักษา
- การรักษาในระยะที่มีอาการปวดเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาแก้ปวดซึ่งมีหลายชนิด ตั้งแต่ขนาดเบาไปจนถึงขนาดที่ระงับอาการไมเกรนได้ รวมถึงการใช้ยาฉีด โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาตามอาการ
- การรักษาในรายที่มีแนวโน้มปวดหัวเรื้อรังจากไมเกรนหรือจากการใช้ยามากเกินไป จำเป็นต้องใช้ยาป้องกันการกำเริบของไมเกรน เช่น ยากันชัก กลุ่มยาต้านเศร้า ยาโรคหัวใจ เป็นต้น
ปวดหัวไมเกรน ป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ และ การใช้งานคอมพิวเตอร์มากเกินไป และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยไม่ให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่กล่าวมาข้างต้นได้
รู้สึกไม่สบาย? เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องการยา? Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพ เเละจัดหาตัวแทนไปรับยาร้านขายยยามาตรฐานเพื่อนำไปส่งให้ที่บ้านของคุณได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้กังวล
เริ่มการปรึกษาได้ที่ >> https://bit.ly/medcareapp