เทคโนโลยีสุขภาพในยุค 4.0 (ตอนที่ 4 — ตอนจบ)
ระบบบริหารจัดการร้านยาและบริการด้านสุขภาพอื่นๆ
- Arincare : ระบบบริหารจัดการร้านยาในระบบ Cloud ที่เปิดให้ร้านยาโดยเภสัชกรใช้งานฟรี
จุดเด่นคือ เป็นระบบบริหารจัดการทั้งการขายยาหน้าร้าน และการบริหารงานหลังร้าน โดย software ถูกออกแบบมาสำหรับธุรกิจร้านขายยาโดยเฉพาะ ใช้ผ่าน browser สามารถทำบันทึกรายงานการขายยาเพื่อส่งให้กับ อย. ได้ สามารถทำระบบทะเบียนประวัติคนไข้ ทั้งประวัติความเจ็บป่วยและการแพ้ยา และด้วยจุดเด่นของการเป็นระบบ cloud ทำให้เจ้าของร้านสามารถมองเห็นภาพรวมและบริหารงานจากที่ใดก็ได้ รวมทั้งสามารถเพิ่มการเชื่อมต่อบริการอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น เป็นช่องทางการชำระเงินแบบ e-payment ได้ และในอนาคตอาจมี feature ระบบข้อมูลยาอีกหลายอย่างที่จะช่วยให้เภสัชกรหน้าร้านและคนไข้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อให้เกิดการใช้ยาได้อย่างปลอดภัยที่สุด
- PharmaSafe : Software เพื่อการให้ข้อมูลยาของคนไข้หลังจากรับบริการจากโรงพยาบาล
เป็น Software ที่ถูกพัฒนาโดยทีมสถาปนิกและเภสัชกร ซึ่งหลังจากคนไข้ได้รับยาที่ห้องยาของโรงพยาบาลแล้วจะมีการเตือนการทานยาและนัดพบแพทย์ครั้งต่อไปให้กับคนไข้ได้
ระบบค้นหาบริการ
- ZeekDoc : เว็บไซต์ค้นหาหมอใกล้บ้านและนัดหมายผ่าน app ได้
ZeekDoc จะช่วยให้เราสามารถค้นหาแพทย์ได้ โดยค้นหาได้ทั้งจากความเชี่ยวชาญ และความใกล้ไกล พร้อมทั้งสามารถทำนัดเพื่อขอเข้าพบแพทย์ ทำให้ประหยัดเวลารอคอยและมั่นใจว่าได้พบแพทย์ท่านที่ต้องการแน่ๆ
บริการอื่นๆ
- Diamate : App สำหรับดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
โดยทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดมาเก็บให้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถบันทึกมื้ออาหารและปรึกษากับนักโภชนาการได้
- SmartHealthCare : Application ที่ช่วยในการเก็บข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล
- Block M.D. : ช่วยออกแบบข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์ด้วย technology Blockchain
มีความพยายามในการนำ Blockchain มาใช้ในวงการแพทย์ โดยแนวทางหนึ่งคือ การนำมาใช้ในการทำ Electronic Medical Record (EMR) หรือ Personal Health Record (PHR) ซึ่งเกิดจาก pain point ที่มีความยากลำบากในการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลในเครือข่ายที่ต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยย้ายโรงพยาบาลยาก และพบว่าข้อมูลทางการแพทย์ซึ่งควรเป็นสมบัติของคนไข้กลับกลายเป็นคนไข้ยากที่จะเข้าถึง การนำ blockchain มาใช้จึงน่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
- QueQ : จองคิวพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้
app ที่ถูกพัฒนามาจาก app จองคิวร้านอาหาร จนกลายมาเป็น app จองคิวโรงพยาบาล ซึ่งสามารถแสดงสถานะการรอตรวจได้ ช่วยให้คนไข้กะเวลารอตรวจได้
ภาพรวมของผู้ประกอบการด้าน Digital Health ในประเทศไทย
ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการทางด้าน Health Tech Startups ในประเทศไทยอยู่จำนวน 55 บริษัท และได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคม ชื่อว่า “สมาคมเฮลเทคสตาร์ทอัพ” ขึ้น ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเพจของสมาคมที่ สมาคม Health Tech Startup Thailand : https://www.facebook.com/HealthTechThailand/
สมาชิกของสมาคมฯ ได้ถูกจำแนกออกตามวัตถุประสงค์ของการให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น TeleHealth คือ กลุ่มที่เน้นการให้บริการทางการแพทย์จากระยะไกล กลุ่ม Service Search จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการด้านนั้นๆ ได้ดีขึ้น กลุ่ม HIS/EMR/EHR จะเป็นกลุ่มที่ทำเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลทางการแพทย์ทั้งระบบเวชระเบียนคนไข้หรือข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ กลุ่ม Personal Health & Fitness จะช่วยเก็บข้อมูลผู้ป่วยตามอาการ กลุ่ม Clinic/Pharmacy Management System จะช่วยทำระบบเก็บข้อมูลการบริหารคลินิกหรือร้านขายยา ซึ่งผู้อ่านสามารถดูรายละเอียดของแต่ละบริษัทได้ตามภาพด้านล่าง
ภาพอนาคตของวงการ Health Tech Startup
อย่างที่ผู้เขียนเองได้แสดงให้เห็นถึงภาพของงาน Digital Health ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในส่วนต้นของบทความ มีบริการด้านสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหลายบริการสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในประเทศไทย ทั้งนี้หลายบริการยังคงอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น บริการด้านระบบข้อมูลสุขภาพที่ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในระดับสูง หรือ บริการด้าน TeleHealth ที่ถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยที่กฎหมายไม่เคยมีระบุไว้ จึงยังคงมีข้อโต้แย้งอยู่ไม่น้อยด้านกฎหมาย หรือบริการด้านยาที่หลายคนจินตนาการไปว่าเราสามารถจัดส่งยาไปให้ผู้ป่วยได้ถึงบ้าน ในขณะที่ข้อกฎหมายเอง เช่น พ.ร.บ.ยา หรือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ยังมีข้อกำหนดบางประการที่อาจยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ จึงยังคงเป็นสิ่งที่ทั้งฟากผู้ประกอบการ Health Tech Startup และ Regulator ต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและระบบสุขภาพของประเทศได้มากที่สุด
ภก.วิรุณ เวชศิริ
Chief Pharmacist
Arincare