FEATURED การบริหารร้านขายยา

เทคโนโลยีสุขภาพในยุค 4.0 (ตอนที่ 1)

February 6, 2019

เทคโนโลยีสุขภาพในยุค 4.0 (ตอนที่ 1)

ตอนที่ 1 ความก้าวหน้าของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลสุขภาพภายใต้ระบบนิเวศสาธารณสุขของไทย

ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในรูปแบบของอินเตอร์เน็ต เครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคล สมาร์ทโฟน หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเราจนแทบจะเรียกได้ว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้มัน ในปัจจุบันคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย เกือบ 10 ชั่งโมงต่อวันในวันทำงานหรือเรียน และ 11 ชั่วโมงในวันหยุด

หรือกล่าวให้เห็นภาพคือ ประมาณ 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวันนั้นอยู่กับอินเตอร์เน็ต ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงคน Gen Y ที่เป็นวัยแรงงานรุ่นใหม่และใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากที่สุด แต่ยังรวมไปถึงวัยปู่ย่าตายายยุค Baby Boomer ก็ยังใช้เวลาอยู่กับโลกออนไลน์กันไม่น้อยที่ 8 ชั่วโมงกว่าๆ ต่อวันเลยทีเดียว[1] ซึ่งตัวเลขนี้เป็นสิ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งไม่ใช่แค่เพียงวิธีการสื่อสารระหว่างกันเท่านั้น

หลายท่านถึงกับให้ความเห็นว่า โลกดิจิทัลน่ากลัวกว่าที่คิด เปรียบการมาของเครื่องมือทางดิจิทัลเสมือนกับคลื่นยักษ์ที่พร้อมทำลายล้างทุกสิ่งที่ขวางหน้า ตั้งแต่ธุรกิจฟิล์มถ่ายรูป ธุรกิจเพลงที่เคยจำหน่ายผ่านซีดีหรือดีวีดี ธุรกิจสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี ซึ่งทุกวันนี้คนต่างหันไปใช้สื่อดิจิทัลกันหมด หรือแม้แต่ธุรกิจการเงินที่ได้เริ่มเห็นการลดจำนวนสาขาให้บริการลงเพราะการทำธุรกรรมออนไลน์สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น มีความจำเป็นต้องพึ่งพาคนเป็นผู้ให้บริการลดลง แนวโน้มของการใช้ทักษะและแรงงานคนในยุคข้างหน้าจึงดูเหมือนจะบังคับให้ทุกคนต้องมุ่งไปสู่งานที่ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้นที่ยากในการทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ

ด้านวงการสุขภาพเองก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นวงการที่มีระเบียบปฏิบัติค่อนข้างสูง เน้นการใช้ทักษะเฉพาะด้านวิชาชีพสุขภาพในการเป็นผู้ให้บริการหลัก ทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และวิชาชีพเกี่ยวเนื่องอื่นๆ รวมทั้งมีข้อกฎหมายและข้อพึงระวังมากมาย แต่ก็เป็นอีกวงการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้ามาของคลื่นดิจิทัลยักษ์ หรือ digital disruption ไปได้เลย โดยการมาของ digital disruption ในวงการสุขภาพจะส่งผลต่อวิถีแห่งการดูแลรักษาสุขภาพทั้งในระดับส่วนบุคคล ในระดับองค์กร หรือในระดับประเทศเปลี่ยนแปลงไปเลยทีเดียว

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้ววงการสุขภาพจะเปลี่ยนแปลงไปได้เพียงใด และเมื่อไหร่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ บทความนี้จะนำทุกท่านได้ทำความรู้จักกับการเข้ามาของคลื่นดิจิทัลกับผลกระทบต่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 และนำเสนอให้เห็นถึงผู้เล่นรายสำคัญที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูแลรักษาสุขภาพในประเทศไทยโดยการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว


ประชาชนมีวิธีการดูแลรักษาสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ่งที่เป็นที่พึ่งพิงของประชาชนในอดีตเมื่อเรามีปัญหาด้านสุขภาพคือการเข้ารับบริการทางสุขภาพจากผู้ให้บริการทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เภสัชกร พยาบาล หรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยในตอนนั้นบุคลากรในวิชาชีพทางสาธารณสุขเหล่านี้อยู่ในสถานะที่มีข้อมูลที่มากกว่าผู้รับบริการ ทำให้อำนาจในการเลือกวิธีการรักษาพยาบาลตกอยู่กับผู้ให้บริการเป็นหลัก ทำให้ภาพออกมาในลักษณะที่ว่า “ ก็แล้วแต่หมอจะว่าอย่างไร ” ซึ่งหมอเป็นทั้งผู้ชี้นำและคนไข้เป็นผู้ปฏิบัติตาม ซึ่งอาจถือเป็นข้อดี เพราะในแง่หนึ่งหากบริการทางการแพทย์เข้าถึงคนไข้ทุกคนได้ก็ถือว่าทุกคนจะได้รับบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยเพราะได้รับการพิจารณาอย่างพอสมควรแล้วจากผู้ให้บริการทางการแพทย์ แต่ในความเป็นจริงจำนวนการให้บริการทางการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์นั้นมีจำกัด ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องไปใช้บริการทางสุขภาพจากผู้ให้บริการนอกระบบที่ไม่ปลอดภัย

แต่เมื่อเทคโนโลยีลูกใหญ่นี้ผ่านเข้ามา ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลและสื่อดิจิทัล ทำให้ประชาชนสามารถหาข้อมูลเองได้ไม่จำกัด ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลทางการแพทย์ จำนวนสื่อที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ ด้านสุขภาพ มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกๆ วัน ทั้งจากแหล่งข้อมูลสถาบันที่น่าเชื่อถือ หรือแม้แต่สื่อให้ความรู้กล่าวอ้างอย่างไม่มีที่มาที่ไป บ้างก็มีการเผยแพร่ความเชื่อส่วนบุคคลที่มีการแนะนำวิธีการรักษาโรคซึ่งไม่เพียงจะไม่มีผลต่อการรักษา แต่ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อร่างกายจนถึงชีวิตเลยก็มี

www.google.com เป็น search engine หรือเครื่องมือที่ใช้ในการค้นหาลำดับต้นๆ ของคนไทย และเมื่อมีปัญหาสุขภาพ google ก็กลายมาเป็นที่พึ่งลำดับต้นๆ ของคนไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งผลการค้นหาที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูง แต่เป็นหน้าเว็บที่ได้จัดทำระบบข้อมูลสอดคล้องตามเกณฑ์ที่ google ได้ออกแบบไว้ เช่น มีแนวทางด้านเนื้อหา ด้านโครงสร้าง เป็นไปตามที่ google กำหนด ซึ่งหลายๆ เว็บไซต์ทางวิชาการที่ไม่ได้จัดวางเนื้อหาตามแนวทางดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกค้นพบในลำดับต้นๆ ความเป็นจริงที่ประชาชนไทยสืบค้นเจอเกี่ยวกับข้อมูลทางสุขภาพหลายครั้งจึงเป็นข้อมูลที่อันตราย เช่น ข้อมูลจากเว็บไซต์พันทิป ที่ข้อมูลเกิดจากการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ได้สอดคล้องกับสาเหตุความเจ็บป่วยที่แท้จริงของผู้สืบค้น ประชาชนในประเทศไทยจึงต้องการระบบการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือในระดับพอที่จะใช้เป็นที่พึ่งทางสุขภาพได้ ซึ่งโดยเบื้องต้น จึงจำเป็นที่จะต้องช่วยกันเผยแพร่แหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถืออย่างเหมาะสมให้กับประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นแหล่งข้อมูลจากสถาบันทางการแพทย์หลักๆ ของไทย

หรืออีกทางหนึ่งที่จะทำให้คนไข้ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องมือดิจิทัลทางการแพทย์ หรือ Digital health

เครื่องมือดิจิทัลทางการแพทย์ หรือ Digital health


สำหรับตอนที่ 2 จะขอนำเสนอรูปแบบของการนำเครื่องมือทาง Digital Health มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและการแพทย์ จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามกันนะครับ

[1] อัพเดทตัวเลขและพฤติกรรมผู้ใช้งานสื่อ digital ในเมืองไทย Q3 2018, Thailand Internet User Profile 2018 จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

ภก.วิรุณ เวชศิริ
Chief Pharmacist
Arincare